หน้าแรก > ภูมิภาค

เคสแรกในอีสาน! แพทย์ มข.ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รักษา “โรคหนังแข็ง” สำเร็จ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08:52 น.


23 กุมภาพันธ์ 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าว “ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน” นำโดย รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์, ศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์,  ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม สาขาวิชาอายุรศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้, ผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ และ นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ณ  ห้องประชุมหนองแวง  อาคารเรียนรวม  คณะแพทยศาสตร์

รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวถึงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย ซึ่ง “การรักษาผู้ป่วยโรคหนังแข็งในอดีตนั้น  มีเงินก็รักษาไม่ได้” แต่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด นับเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันและอนาคต

รู้จักโรคหนังแข็ง เกิดจากอะไร–อันตรายแค่ไหน?

ขณะที่ ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์เจ้าของไข้  เปิดเผยว่า โรคหนังแข็ง (Scleroderma ) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายผลิตเส้นใย คอลลาเจนออกมาอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการสร้างพังผืด ส่งผลให้พังผืดไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดผิวหนังตึงแข็ง บริเวณใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า แขนขา หน้าอก หน้าท้อง และลามไปถึงอวัยวะภายในได้ เช่น ภาวะปอดเป็นพังผืด และกล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ซึ่งอันตรายจนอาจพิการและเสียชีวิตได้ โดยทั่วประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 24:1 แสนคน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 40/1 แสนคน ส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน-วัยสูงอายุ (ราว 40-50 ปี) และพบในคนอายุน้อยได้น้อยมาก

สำหรับ “นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว” ผู้ป่วยหญิงรายนี้เริ่มป่วยและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนังแข็งตั้งแต่อายุ 14 ปี ซึ่งมีการติดตามการรักษากับกุมารแพทย์ กระทั่งเดือนสิงหาคม 2561 เริ่มมีอาการนิ้วมือซีดเขียวเมื่อสัมผัสความเย็น และสีผิวเริ่มคล้ำขึ้น ผิวหนังเริ่มแข็งตึงบริเวณนิ้วมือลามไปถึงหลังมือ และแขนทั้ง 2 ข้าง แม้จะรักษาด้วยยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน แต่ผิวหนังก็ยังคงแข็งตึง และเริ่มมีรอยกระดำกระด่างตามใบหน้า ลำคอ แขน และขา รักษาโรคหนังแข็งด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ศ.พญ.ชิงชิง ระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยในวัย 18 ปี ได้ถูกส่งตัวมาเพื่อรักษาต่อกับอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งขณะนั้นมีภาวะพังผืดลามไปที่ปอด แต่มีรอยโรคเพียงร้อยละ 10 ของปอด ผิวหนังแข็งตึง จึงได้วางแผนรักษาด้วยการทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง

หลังรักษา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีผิวนุ่มขึ้น และในเดือนที่ 3 ข้อต่อดีขึ้นจนสามารถเหยียดนิ้วมือ ข้อศอก และแขน ได้สะดวก และสีผิวกลับเป็นปกติอย่างเห็นได้ชัด การทำงานของอวัยวะภายในคงที่ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตนเองได้และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ  “การรักษาผู้ป่วยในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งแรก เคสแรกในภาคอีสาน และเป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดด้วย ทำให้เราตัดสินใจเร่งรักษาเพื่อให้น้องได้ใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุข ซึ่งหลังจากนี้จะติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถหายขาดจากโรคหนังแข็งได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี”
ด้าน ผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา  กล่าวถึงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดว่า เป็นนวัตกรรมที่มีการใช้รักษามานานถึง 50 ปีแล้ว โดยเฉพาะการรักษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และปัจจุบันนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนี้จะใช้เซลล์ของตนเองเป็นหนึ่งทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้โรคสงบหรือหายขาด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ โดยหลักการคือ แพทย์จะทำการกระตุ้นเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้ป่วยไว้ จากนั้นจะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง เพื่อกำจัดเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและรีเซ็ตระบบภูมิคุ้มกัน แล้วนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดกลับมาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว

“ปกติแล้วการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะทำให้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มากเกินไปและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ยังดี โดยเลือกผู้ป่วยอาการของโรครุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนในผู้ป่วยหนังแข็งที่อายุสูงวัยและอาการไม่รุนแรงมากนัก ไม่จำเป็นต้องปลูกถ่าย”

นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยบอกเล่าความรู้สึกว่า อยากขอบคุณโรงพยาบาลและทีมแพทย์ เพราะก่อนรักษามีความลำบากในการใช้ชีวิตมาก ช่วงฤดูหนาวจะรู้สึกหนาวกว่าปกติ มีแผลเกิดขึ้นตามซอกนิ้ว ตามข้อต่าง ๆ ยกแขนไม่ได้ แม้แต่เจาะเลือดก็ไม่มีเลือดเพราะเส้นเลือดถูกรัดไว้เนื่องจากผิวตึงมาก ทำให้ไปเรียนลำบากจนขาดเรียนบ่อยครั้ง หลังเข้ารับการรักษา มีความสุข ตลอดเวลารักษา เพราะอาการดีขึ้นมาก แต่สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ทำกิจกรรมกับเพื่อนได้มากขึ้น มีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอ

“อยากขอบคุณโรงพยาบาลและทีมแพทย์ที่มอบชีวิตใหม่ให้หนู และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ป่วยเป็นโรคหนังแข็งนี้ ให้สู้ต่อไป อย่ายอมแพ้ เพราะยังมีทีมแพทย์ที่จะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สู้ ๆ อย่าท้อนะคะ”

ทั้งนี้ ศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ปิดท้ายงานแถลงข่าวในวันนี้ด้วยการขอบคุณผู้บริจาคสมทบกองทุนวันศรีนครินทร์ เพราะเงินจากการบริจาคทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้นำมาช่วยเหลือผู้ป่วย   ที่มีโรคที่ซับซ้อน มีรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายเกินสิทธิในการรักษาพยาบาล

“การพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างที่เราได้นำเงินบริจาคของประชาชนทุกท่านมาช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างปกติ ชีวิตยังมีหวังด้วยพลังแห่งการให้ ร่วมเป็นผู้ให้ได้ที่กองทุนวันศรีนครินทร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

ที่มา ม.ขอนแก่น


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม