วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:18 น.
16 กุมภาพันธ์ 2567 ในขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น ความวิตกกังวลต่อสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหนึ่งในสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลนั่นก็คือการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยั่งยืนของผืนดินและน้ำอันกว้างใหญ่ สิ่งจำเป็นสำหรับการเพาะปลูกปศุสัตว์ นับเป็นข่าวดี แม้จะเพิ่งเริ่มต้น เมื่อคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยยอนเซ สถาบันการศึกษาชั้นนำในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนา "ข้าวเนื้อ" ซึ่งเป็นอาหารไฮบริดรูปแบบใหม่ที่มีความยั่งยืน เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้
คณะนักวิจัยที่เปิดเผยรายงานการพัฒนาอาหารไฮบริดดังกล่าว ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Matter เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระบุว่า เมล็ดข้าวดังกล่าวได้รับการเพาะในห้องแล็บ ซึ่งเต็มไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อวัวและไขมัน ผลลัพธ์ที่ได้คือเมล็ดข้าวสีชมพู ซึ่งทีมนักวิจัยชี้ว่านี่อาจเป็นทางเลือกสำหรับเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกกว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง
"ปาร์ก โซฮยอน" วิศวกรชีวโมเลกุล แห่งมหาวิทยาลัยยอนเซ กล่าวว่า ลองจินตนาการถึงสารอาหารทั้งหมดที่เราต้องการจากข้าวที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากการเพาะเลี้ยง ข้าวมีคุณค่าทางสารอาหารในระดับสูงอยู่แล้ว แต่การเพิ่มเซลล์จากปศุสัตว์สามารถเสริมคุณค่าทางสารอาหารได้มากขึ้นไปอีก ขั้นแรก ในการวิจัยพัฒนาพวกเขาเคลือบเมล็ดข้าวด้วยเจลาตินปลา และเอนไซม์อาหารเพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อวัวยึดติดกับเมล็ดข้าว และเติบโตบนข้าวให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงเพาะเมล็ดข้าวด้วยกล้ามเนื้อวัวและสเต็มเซลล์ไขมัน แล้วปล่อยให้งอกในจานเพาะเชื้อเป็นเวลา 9 ถึง 11 วัน ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผลิตผลขั้นสุดท้ายที่ได้นั้น มีโปรตีนสูงกว่า 8% และไขมันมากกว่า 7% มากกว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปกติ และมีเนื้อแน่นแต่หักง่าย "การพัฒนานี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างมาก เนื่องจากวิธีการผลิตจะขจัดความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ซึ่งยังใช้ทรัพยากรและน้ำจำนวนมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก"
รายงานระบุว่า ทุกๆ 100 กรัมของโปรตีนที่ผลิตได้ คาดว่าข้าวไฮบริดนี้จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 6.27 กิโลกรัม ในขณะที่การผลิตเนื้อวัวจะปล่อยออกมามากกว่า 8 เท่า หากทำการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ก็จะเป็นทางเลือกที่มีราคาถูกลงสำหรับผู้บริโภคในเกาหลี โดยคาดว่าข้าวไฮบริดนี้จะมีราคาตกประมาณกิโลกรัมละ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เนื้อวัวมีราคากิโลกรัมละประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐ
ทีมนักวิจัยมีแผนที่จะพัฒนากระบวนการต่อไปเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวที่มีคุณค่าสารอาหารมากขึ้น ก่อนที่จะนำข้าวเนื้อจำหน่ายในตลาด และ วันหนึ่งอาหารนี้สามารถใช้เป็นอาหารบรรเทาความอดอยาก อาหารทางทหาร หรือแม้แต่อาหารในอวกาศได้อีกด้วย
ที่มา https://www.cell.com/matter/fulltext/S2590-2385(24)00016-X?fbclid=IwAR3aAT2_DP513d8qWTgezZeiqBMlMmuzCYey8PU468L_Xd2zTfKXkwj6d5s และ https://www.ndtv.com/world-news/south-korean-scientists-develop-new-type-of-hybrid-rice-amid-food-crisis-5063100?fbclid=IwAR0kCnxfEJ7WodA2JfTrKN29Rakp8TOD8UienCcMhbKYL2lblGFVmdhAbMU