วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11:32 น.
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีข่าวมะขามหวานขึ้นรากินได้ ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นเชื้อราที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้น พบว่าเชื้อราที่แยกได้จากมะขามหวานในการวิจัยทั้งหมดเป็นเชื้อราที่ไม่สร้างสารพิษและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กรมอนามัยขอให้ประชาชนเลือกกินเฉพาะมะขามที่ไม่ขึ้นราดีกว่า เพราะมะขามหวานที่ขึ้นราอาจมีการปนเปื้อนเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เชื้อราที่พบในมะขามหวานแต่ละสายพันธุ์จะสร้างสารพิษต่างชนิดกัน โดยสามารถจำแนกสารพิษจากราเป็นกลุ่ม ดังนี้
1) Aflatoxins
2) Ochratoxins
3) Zearalenone
4) Trichothecenes
เชื้อราดังกล่าวก่อให้เกิดอาการ พิษต่อตับโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 3 - 8 ขวบ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ และส่งผลเสียต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น อาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ไตวายเรื้อรัง ทำลายเซลล์ในไขกระดูก เซลล์บุเยื่อเมือกของทางเดินอาหาร และทำลายระบบภูมิคุ้มกัน โรคตับอักเสบเฉียบพลัน โรคมะเร็งตับ เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อราในกลุ่ม Zearalenone ยังเกิดผลกระทบต่อหมู แต่ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษจากสารนี้ในมนุษย์
“ทั้งนี้ มะขามหวานสุก ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมตามฤดูกาลของไทย มีประโยชน์และคุณค่าโภชนาการ เพราะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย มีวิตามินซีสูงช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานชนิดน้ำตาลในเลือดน้อย ช่วยสมาน และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย แต่มะขามหวานก็เป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน และคาร์โบไฮเดรตสูงเช่นเดียวกัน โดยเนื้อมะขามหวานสุก 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงาน 332 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 80.30 กรัม โปรตีน 2.9 กรัม เบต้าแคโรทีน 156 ไมโครกรัม วิตามินซี 75 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าส้มที่มีวิตามินซี 53.2 มิลลิกรัม และสตรอเบอร์รี่ ที่มีวิตามินซี 58.8 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน แต่ด้วยปริมาณพลังงานที่สูงมาก ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานมากเกิน 1 ขีด ต่อ 1 วัน เพราะจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกายได้”