วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:33 น.
เจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร-Dinosaur museum สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งข้อมูลการพบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์จาก นายเชาวลิต บุญชาย ประชาชนในพื้นที่ จึงได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจตรวจสอบ ณ บริเวณฝายน้ำล้น บ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น นำโดย นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ นางสาวศศอร ขันสุภา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
ภายหลังการตรวจสอบในพื้นที่ พบซากดึกดำบรรพ์ชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังของไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด(sauropod) และเศษกระดูกซี่โครงไม่สามารถระบุชนิด ฟันของไดโนเสาร์กินปลาสไปโนซอรัส (spinosaurus) พร้อมรอยชอนไช (burrow) ที่อยู่ในชั้นหินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดงของหมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation) กลุ่มหินโคราช อายุประมาณ 110-100 ล้านปีก่อน ทั้งนี้ได้ให้นายเชาวลิต บุญชาย ผู้ค้นพบ แจ้งพบซากดึกดำบรรพ์ ต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงหวาน เจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยตำแหน่ง เพื่อดำเนินการตามระเบียบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
เนื่องจากตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ที่พบจะให้เห็นภายหลังระดับน้ำลดลง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทำลายเมื่อระดับน้ำสูงขึ้น เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์สิรินธรจึงเก็บตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์มาอนุรักษ์เบื้องต้น ก่อนส่งมอบให้เทศบาลตำบลม่วงหวานนำตัวอย่างกระดูกซี่โครงและรอยชอนไชเก็บรักษาและจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลม่วงหวาน ซึ่งได้รับความร่วมมือในการคุ้มครองและดูแลซากดึกดำบรรพ์และและแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์เป็นอย่างดี
นางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยกรธรณี กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่พบว่า “การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในที่แห่งนี้ช่วยเพิ่มเติมหลักฐานและข้อมูลการกระจายตัวของซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในประเทศไทยได้ อีกทั้งได้ข้อมูลที่แสดงถึงลักษณะทิศทางการไหลของทางน้ำบรรพกาลที่มีลักษณะสวยงามสภาพโดยทองเห็นได้ในบริเวณนี้ภายหลังจากระดับน้ำลดลง เป็นลักษณะชั้นหินทรายที่วางตัวชั้นบนสุดที่ปรากฏลักษณะชั้นเฉียงระดับ (cross-bedding) และชั้นหินบาง (lamination) นอกจากนี้ยังพบการเกิดกุมภลักษณ์ (pothole) บริเวณผิวหน้าชั้นหินหลายจุด สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นจุดศึกษาเรียนรู้ธรณีวิทยาขนาดเล็ก (small geosite) ในระดับท้องถิ่น เฉพาะช่วงเวลาภายหลังระดับน้ำลดลงได้ ทั้งนี้ จะได้มีการร่วมลงพื้นที่ระหว่างกรมทรัพยากรธรณีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดในโอกาสต่อไป”
จังหวัดขอนแก่นเป็นอีกแห่งที่ค้นพบสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี 2519 จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์กระดูกขนาดใหญ่ท่อนหนึ่งในอำเภอภูเวียง จนสามารถศึกษาวิจัยและระบุได้ว่าเป็นชิ้นพันธุ์ใหม่ของโลกและเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ไทยตัวแรก "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่" และอีก 4 ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกในเวลาต่อมา ไม่เพียงแต่ไดโนเสาร์กินเนื้อและไดโนเสาร์กินพืช ยังพบสัตว์ร่วมสมัยหลายชนิดอีกด้วย ปัจจุบันจังหวัดขอนแกนจึงกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง
การค้นพบซากดึกดําบรรพ์ที่สําคัญในประเทศไทยเพิ่มมากอย่างต่อเนื่อง แต่ละชิ้นตัวอย่างล้วนมีความสําคัญต่อการศึกษาประวัติความเป็นนมาของโลกและสิ่งมีชีวิตบนผืนโลก ถือเป็นสมบัติของแผ่นดินที่ควรอนุรักษ์ไว้ พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 จึงกําหนดให้ผู้พบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดําบรรพ์ ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่พบนั้นทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พบ และเมื่อกรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากหน่วยงานท้องถิ่นก็จะเร่งดำเนินการตรวจสอบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดําบรรพพ์ต่อไป เพื่อให้การบริหารจัดการซากดึกดําบรรพ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองซากดึกดําบรรพ์ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของแผ่นดินได้ ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งความรู้และแหล่งท่องเที่ยวให้กับท้องถิ่นได้
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน