หน้าแรก > สังคม

เลขา ป.ป.ส. ฝากคุณครูทั่วประเทศ ร่วมป้องกันเด็กและเยาวชน ชี้ยาบ้า คือ ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย

วันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 14:34 น.


เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นวิทยากรบรรยาย ผ่านระบบออนไลน์ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา สพฐ. OBEC ONE TEAM ในหัวข้อเรื่อง หน่วยบูรณาการผู้สร้างพลังสู่การเปลี่ยนแปลง สาระการเรียนรู้ที่ 1 การบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรฯ OBEC Safety Center, School Health Hero : "การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสถานศึกษา" โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวม 387 คน เข้าร่วมฟังบรรยาย ณ อิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ยาบ้ากลัวครอบครัวที่อบอุ่น ยาบ้ากลัวชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของน้องๆ เยาวชนมากที่สุด คือกระทรวงศึกษาธิการ จึงอยากให้คุณครูได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาว่าขณะนี้บ้านเรามีปัญหายาเสพติดมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้บรรยายให้ความรู้ถึงเรื่องสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทยในปัจจุบัน แหล่งผลิตยาเสพติด การสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน และความร่วมมือด้านการสืบสวนขยายผลระหว่างประเทศ รวมไปถึงนโยบาย Quick win ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสพที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจากการค้นหาพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชกว่า 530,000 คนโดยประมาณ ที่กลุ่มคนเหล่านี้อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นอันเป็นผลจากอาการทางจิต เพราะในขณะนี้ ยาบ้าเป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศเดียวที่เสพยาบ้ามากที่สุดในโลก เพราะยาบ้าไม่มียารักษา เสพแล้วสมองเสื่อม เสพแล้วทำให้มีอาการคุ้มคลั่ง

ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้เมื่อ 26 ธันวาคม 2566 ไว้ว่า "ปลุก เปลี่ยน ปราบ" คือปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนจากผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปราบ สกัดกั้นยาเสพติดและยึดทรัพย์ผู้ค้า และให้แนวทาง 10 ข้อในการลดปัญหายาเสพติด โดยข้อที่สำคัญข้อหนึ่งและครูสามารถมีบทบาทสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ และการที่ประชาชนทุกคนต้องตื่นตัวแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญเนื่องจากมีผลต่อการสอนนักเรียนให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไม่เพียงแต่เป็นการให้ความรู้ถึงพิษภัยของยาบ้า แต่ยังเป็นการสร้างพฤติกรรมและทักษะที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถตัดสินใจได้เพื่ออนาคตของตัวเขาเอง

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ในสิ่งที่รับฟังบรรยายในวันนี้ ส่งต่อถึงคุณครูที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ได้ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนที่ใกล้ชิด ว่าหากเจอบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงอาการทางจิตกำเริบ 5 ข้อ ดังนี้ 1. ไม่หลับไม่นอน 2. เดินไปมา 3. พูดจาคนเดียว 4. หงุดหงิดฉุนเฉียว 5. เที่ยวหวาดระแวง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นมีอาการคุ้มคลั่ง และก่อเหตุร้ายตามมาในอนาคต พร้อมฝากคุณครูให้ช่วยคิดวิธีในการปลูกฝังแนวคิดให้กับเด็กตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยม โดยยกตัวอย่าง เด็กในประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบทันทีกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือเหตุการณ์กราดยิงตามสถานศึกษา ว่าจะต้องทำอย่างไรให้เด็กมีสัญชาตญาณว่ายาบ้าเป็นผีร้าย ยาบ้าคือผีดิบ เมื่อเจอยาบ้าให้หลีกเลี่ยงและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม