วันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 11:37 น.
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ปลุกพลังผู้ให้ทั่วประเทศ ชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยกับโครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ” ตลอดปี 2567 โดยเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีโลหิตสำรองเพียงพอสม่ำเสมอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้จัดโครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ Give Blood ,Give lives, Give forever” เป็นโครงการหลักประจำปี 2567 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการบริจาคโลหิตให้แก่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ และเหล่ากาชาดจังหวัดต่างๆในการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพิ่มมากขึ้น หรืออย่างน้อยบริจาคโลหิตเพิ่มปีละ 2 – 3 ครั้ง รวมถึง การเพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ให้มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
จากสถิติความถี่การบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2566 จากจำนวนผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด 1,606,743 คน พบว่ามีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีปริมาณมากถึง 1,057,894 คน คิดเป็นร้อยละ 65.84 ในขณะที่ ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง มีจำนวนเพียง 73,770 คน คิดเป็นร้อยละ 4.59 และยังมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 2 ครั้ง จำนวน 313,029 คน คิดเป็นร้อยละ 19.48 บริจาคโลหิตปีละ 3 ครั้ง จำนวน 156,052 คน คิดเป็นร้อยละ 9.71 ส่วนผู้บริจาคโลหิตมากกว่า 4 ครั้ง (รวมกับบริจาคส่วนประกอบโลหิตอื่นๆ) จำนวน 5,998 คิดเป็นร้อยละ 0.37 หากมี ผู้บริจาคโลหิตบริจาคทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอตลอดปี
ทั้งนี้ โลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่ยังไม่มีนวัตกรรมใดๆ มาทดแทนได้ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิตจากเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคร้อยละ 23 นำไปใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงต้องได้รับโลหิตในการรักษาเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ยูนิต หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อีกร้อยละ 77 นำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2 - 3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5 - 10 ยูนิต ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้ จึงต้องมีการรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิต เพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิต จากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง จากปีละ 2 ครั้ง เพิ่มเป็นปีละ 3 ครั้ง จากปีละ 3 ครั้ง เพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อปี ก็จะทำให้โลหิตมีปริมาณเพียงพอสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยได้ สามารถบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ได้ที่
• ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์
• หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์ สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)
• ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต
• โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1101, 1760, 1761
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน