หน้าแรก > สังคม

เปิดโพล เด็ก ม.ปลาย 69.3% อยากเลิกเข้าแถวตอนเช้า 68.3% อยากยกเลิกวิชาลูกเสือ

วันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 12:10 น.


22 มกราคม 2567 ​งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 15-19 ปี) ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 504 คน (13 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2566) โดยเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากโรงเรียนมัธยมปลายในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร รวม 6 จังหวัด มีผู้ตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ข้อละ 501 คน

1.ข้อคำถามว่า “การเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า ร้องเพลงชาติและสวดมนต์ ยังต้องมี หรือ ควรยกเลิก”

​ผลการวิจัยพบว่า คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่าควรยกเลิก ร้อยละ 69.3 (347 คน) เห็นว่ายังต้องมี ร้อยละ 13.2 (66 คน) ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 17.5 (88 คน) ​จากการสัมภาษณ์เชิงลึก คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่าควรยกเลิกการเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า ร้องเพลงชาติและสวดมนต์ ให้คำอธิบาย เช่น กิจกรรมนี้ไม่ช่วยให้เกิดความรักชาติที่แท้จริง, เป็นกิจกรรมที่เสียเวลาอันมีค่าของทุกฝ่าย, เป็นกิจกรรมที่แสดงอำนาจของฝ่ายครูปกครอง, เป็นกิจกรรมการแสดงเท่านั้น, เป็นกิจกรรมที่เน้นระบบอำนาจนิยม, สวดมนต์หน้าเสาธงชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไรถ้ายังคอรัปชั่นกันในโรงเรียน, ประชุมรับข่าวสารโรงเรียนเดือนละครั้งก็ได้ หรือก็แจ้งข่าวสารผ่านระบบออนไลน์, โรงเรียนควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพเพื่อการสร้างสรรค์ของนักเรียนมากกว่าระเบียบวินัย, ร้อนและยืนจนเมื่อยหรือนั่งจนขาชาแล้ว เข้าใจมั้ย, ไม่มีประเทศไหนทำกันแล้ว,

​คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่ายังต้องมีการเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้า ร้องเพลงชาติและสวดมนต์ ให้คำอธิบาย เช่น เป็นการปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ได้รับข่าวสารหน้าเสาธง, ได้ฝึกความอดทน มีระเบียบ มีวินัย, สร้างสำนึกและฝึกการรับผิดชอบในหน้าที่ให้นักเรียน, ปลูกฝังการทำความเคารพ, ปลูกฝังความกตัญญู, เป็นการต่อต้านยาเสพติด, ได้พบหน้าผู้อำนวยการโรงเรียน, ได้รับการอบรมบ่มเพาะความเป็นคนดี, นักเรียนและครูได้ทักทายปราศรัยกันตอนเช้าทุกวัน, ครูได้พบปะกันทุกเช้า, ครูได้แนะนำดูแลการร่วมกิจกรรมเข้าแถวนักเรียนทุกเช้า

2.ข้อคำถามว่า “วิชาลูกเสือ เนตรนารี ยังต้องมี หรือ ควรยกเลิก” ​ผลการวิจัยพบว่า คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่าควรยกเลิก ร้อยละ 68.3 (342 คน) เห็นว่ายังต้องมี ร้อยละ 15.0 (75 คน) ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 16.7 (84 คน)

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม