วันที่ 19 มกราคม 2567 เวลา 09:49 น.
19 มกราคม 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า โควิด 19 วัคซีนโควิด 19 ที่มีการกล่าวถึงกันมาก วัคซีนทุกชนิดมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นป้องกันการติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค รวมทั้งการเสียชีวิต
วัคซีนทุกชนิด ไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็ก จะมีทั้งประโยชน์อย่างมาก และข้อเสียคืออาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการข้างเคียงจะพบน้อยมากๆ เช่นวัคซีนโปลิโออย่างกิน สามารถป้องกันโปลิโอได้ แต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคโปลิโอได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะเกิดโรคโปลิโอจากวัคซีนอาจจะเป็นหนึ่งในล้านหรือหลายล้านโดส
ในทำนองเดียวกันวัคซีนโควิด 19 ที่ต้องนำมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะในปีแรกโควิด 19 มีอัตราการเสียชีวิต 3-5% ซึ่งสูงมากและลดลงในปีต่อต่อมาเหลือ 1% และจนในปัจจุบันน่าจะน้อยกว่า 0.1% ตามวิวัฒนาการของไวรัส และภูมิต้านทานของร่างกายที่เกิดขึ้นจากวัคซีนและการติดเชื้อทำให้โรคลดความรุนแรงลง
วัคซีนโควิด 19 เป็นที่ยอมรับกันว่ามีอาการข้างเคียง เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เจ็บบริเวณที่ฉีด แต่มีน้อยมากมาก ที่จะทำให้เกิดความรุนแรงถึงเสียชีวิต วัคซีนได้มีการนำมาใช้หลายๆ พันล้านโดส แม้ในประเทศไทยก็มีการใช้มากกว่าร้อยล้านโดส ดังนั้นอาการข้างเคียงชนิดที่เกิดได้ 1 ในแสนหรือ 1 ในล้าน ก็จะพบได้เช่นเดียวกัน
การใช้วัคซีนโควิด 19 ก็เช่นเดียวกัน เราคำนึงถึงผลได้และผลเสีย ถ้าโรครุนแรง โอกาสลงปอดสูงมากและมีอัตราตายสูงมากกว่า 1% วัคซีนมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่น้อยกว่าความรุนแรงของการเกิดโรคอย่างมาก
เมื่อโควิดผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีข้อมูลออกมาชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
แต่เมื่อโรคโควิด 19 ลดความรุนแรงลงอย่างมาก เหลือเฉพาะความรุนแรงอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ความต้องการของวัคซีน ก็คงจะต้องเน้นไปยังกลุ่มเปราะบาง มากกว่าให้กับบุคคลทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรง และการให้วัคซีนก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับ เป็นการให้ด้วยความสมัครใจ แต่หน้าที่ของเราคือจะให้ความรู้ทั้งหมดเพื่อไปประกอบการตัดสินใจ
ทุกอย่างมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ถ้าผลดีมีเป็นจำนวนมากกว่าผลเสียอย่างมากๆ เราก็คงจะต้องยอม.