วันที่ 18 มกราคม 2567 เวลา 15:03 น.
วันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือเบนซ์ เรซซิ่ง เข้าพบ นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี เพื่อทำเรื่องขอเงินชดเชยเยียวยากรณีศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีของตนเองในข้อหาสมคบกันค้ายาเสพติด แต่ได้รับโทษจำคุกในข้อหาฟอกเงินมาแล้วกว่า 4 ปี เกินจากอัตราโทษ 3 ปี 4 เดือน
นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า นายอัครกิตติ์ ถูกตั้งข้อหาสมคบกันค้ายาเสพติดและสบคบกันฟอกเงิน โดยศาลฎีกาได้ยกฟ้องคดียาเสพติด ส่วนคดีฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือน แต่ระหว่างนั้นนายนายอัครกิตติ์ ถูกจำคุกไป 4 ปี 10 วัน เกินกว่ากำหนดโทษ 256 วัน ซึ่งกระทบสิทธิ์ของนายอัครกิตติ์ จึงมาร้องเรียนกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล พร้อมนำคำพิพากษาศาลทั้ง 3 ชั้น เพื่อให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ประกอบการพิจารณาเงินชดเชยเยียวยา การใช้สิทธิเยียวยาดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย โดยจะต้องมาใช้สิทธิ์ภายใน 1 ปี หลังจากพ้นโทษ ซึ่งส่วนกลางจะใช้คณะกรรมการจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ ขณะที่ต่างจังหวัด จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบ
โดยเกณฑ์การชดเชยเยียวยาจะยึดตามค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดกับสถานที่ผู้ต้องขังถูกจองจำแต่ละแห่งซึ่งจะไม่เท่ากัน และจะไม่มากไปกว่า 350 บาท ก่อนนำมาคำนวณกับจำนวนวันที่ถูกขังเกิน เช่นกรณี นายอัครกิตติ์ มีภูมิลำเนาและถูกขังในกรุงเทพฯ ก็จะยึดตามเกณฑ์ดังกล่าว โดยนับตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งมา ยังไม่เคยรับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่มาขอใช้สิทธิ์ในลักษณะนี้
นายกองตรีธนกฤต กล่าวอีกว่า นายอัครกิตติ์ ยังขอเสนอให้กรมราชทัณฑ์แยกการกักขังระหว่างผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดกับผู้ต้องขังที่อยู่ในชั้นการพิจารณาคดีหรือยังอยู่ในขั้นตอนการฝากขัง รวมถึงแยกจากนักโทษคดีทางการเมือง ที่ถูกขังรวมกับนักโทษคดีอาญาทั่วไป ซึ่งข้อเสนอนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาการปรับปรุง
ด้าน นายอัครกิตติ์ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนเงินชดเชยที่ตนเรียกร้องไปจะไม่ได้เยอะ แต่ต้องการมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง และอยากให้ผู้ต้องขังคนอื่นที่มีสถานะเช่นเดียวกันมาใช้สิทธิ์นี้ เพราะเจ้าตัวอาจไม่ทราบว่ามีสิทธิ์กระทำแบบนี้ได้ จึงอยากเป็นตัวแทนให้ผู้ต้องขังที่ไม่มีโอกาสได้มาพูดแบบนี้ ตนเสนอให้แยกการกักขังระหว่างผู้ต้องขังเด็ดขาดและผู้ต้องขังที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินออกจากกัน เพราะการปฏิบัติต่างๆ เช่นการเตรียมหลักฐานต่อสู้คดี การเยี่ยมญาติ หรือการพบทนายความนั้น ไม่ได้รับการแบ่งแยกตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิ์ผู้ต้องขังที่คำพิพากษายังไม่สิ้นสุด หากท้ายสุดศาลยกฟ้องและมาใช้สิทธิ์อย่างตน ก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน ชีวิตและครอบครัว
"ข้อเสนอตนนั้นอาจจะไม่ต้องสร้างเรือนจำใหม่ แต่ใช้เรือนจำที่มีอยู่แล้ว แยกแดนต่าง ๆ ออกมา ยกตัวอย่างจำนวนห้องน้ำนั้น จะมีห้องเดียวต่อจำนวนนักโทษ 50 คน ดังนั้นหากแยกประเภทนักโทษดังที่ตนเสนอได้ อาจช่วยลดความแออัดภายในเรือนจำแต่ละแดนได้"