วันที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 04:09 น.
“รองนายกฯ สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เห็นชอบ การไหว้ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ หลังแพร่หลายไปทั่วโลก ผู้นำต่างชาติหันมาไหว้แทนเพื่อลดการสัมผัส เชื่อ การประกาศเอกลักษณ์ จะยึดโยงความเป็นไทย ให้ได้นานที่สุด
วันที่ 11 มกราคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้การไหว้ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย เนื่องจากการไหว้เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งเราต่างคุ้นเคยและประพฤติอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน โดยแม้การไหว้ จะเป็นสิ่งที่ประเทศไทย และประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับมาจากอินเดีย ผ่านทางคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ที่ปรากฎในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตั้งแต่สมัยทวารวดี แต่ประเทศไทย ก็ได้นำมาปรับและพัฒนา จนมีความหลากหลาย ความลุ่มลึก และความหมายในการแสดงออก ที่ทำให้แตกต่างกับประเทศอื่นๆ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการไหว้แบบไทย ได้เป็นแบบแผนปฎิบัติในการทักทายที่แพร่หลาย เป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บรรดาผู้นำชาติต่างๆ หันมาทักทายและทำความเคารพด้วยการไหว้ เพื่อเป็นการลดการสัมผัส ซึ่งทำให้การไหว้ได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว โดยตนมีความยินดีและขอชื่นชมที่ผลักดันการไหว้ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพราะจะทำให้เกิดการส่งเสริมในด้านต่างๆอีกจำนวนมาก อย่าง ในอดีตที่มีการประกาศ ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติ ก็ทำให้เกิดการท่องเที่ยว รวมถึงมีการทำหนังแอนิเมชันเกี่ยวกับช้าง จนได้รับความสนใจจากต่างประเทศ ดังนั้น การไหว้ ที่แสดงถึงการให้เกียรติ นอบน้อม ภายหลังประกาศเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมด้านต่างๆให้กับประเทศไทยต่อไป
“ผมเคยไปบุโรพุทธโธ ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการแกะสลักประวัติพระพุทธเจ้า บนภูเขาทั้งลูก เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงออกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบัน บริเวณนั้น กลายเป็นศาสนาอื่นไปหมดแล้ว จึงถือว่าเป็นพัฒนาการของมนุษย์ ที่ขนาดสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ยังไม่สามารถยึดผู้คนไว้ได้ ดังนั้น การสร้างเอกลักษณ์ อย่าง การไหว้ จะช่วยทำให้ยึดโยงความเป็นไทย ให้ได้นานที่สุด ซึ่งผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันผลักดัน โดยจากนี้ ก็จะนำมติที่ประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณากำหนดให้การไหว้ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน