หน้าแรก > สังคม

ผบ.ตร.กำชับ ตั้งด่านเท่าที่จำเป็น ติดตั้งกล้องทุกครั้งในการปฎิบัติงาน และเก็บไฟล์ภาพไม่น้อยกว่า 20 วัน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16:31 น.


เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ 0007.22/438 ลงวันที่ 2 ก.พ. เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ถึง รอง ผบ.ตร. (ปป) (มค) และ จตช. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงาน ปป มค และ รอง จตช. เพื่อทราบและควบคุมการปฏิบัติ ผบช.น. ภ.1- 9 ก. จตร.(หน.จต.) และ สยศ.ตร. ใจความว่า ตามหนังสือ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0009.22/1572 ลง 31 พ.ค.64 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และหนังสือ ตร.ที่ 0007.34/681 ลง 3 มี.ค.64 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกและความผิดอื่นที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง ซึ่งกำหนดแนวทางและมาตรการในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกและความผิดที่เกี่ยวข้องไว้แล้วนั้น

เพื่อให้การดำเนินการในกรณีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้การตั้งด่านตรวจ จุดตรวจให้พิจารณาดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม หรือเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบนถนน โดยจะต้องนำข้อมูลสถานภาพอาชญากรรม หรือสถิติการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละพื้นที่มาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณากำหนดจุดสำหรับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ รวมทั้งต้องดำเนินการในลักษณะด่านตรวจ จุดตรวจสัมพันธ์ เพื่อลดการส่งผลกระทบต่อการเดินทางและปฏิบัติกิจธุระตามปกติของประชาชน และต้องดำเนินการตามหนังสือ ตร. ด่วนที่สุดที่ 0007.22/1572 ลง 31 พ.ค.64 และหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลง 3 มี.ค.64 อย่างเคร่งครัด และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมไว้ดังนี้

1.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัดทุกนายแต่งเครื่องแบบและติดกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอล (Police Body Camera) ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติ และเมื่อมีกรณีการเรียกตรวจบุคคลและยานพาหนะให้บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจไว้ตลอดเวลาและให้นำภาพและเสียงที่บันทึกไว้ในกล้องไปจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยในโอกาสแรกหลังเลิกการปฏิบัติ โดยให้เก็บภาพและเสียงไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน และให้ หน.สน./สภ. ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด หากพบข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าว ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหัวหน้าด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด จนถึง หน.สน./สภ.

2.ในการตั้งจุดสกัด ให้ปฏิบัติได้เฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพื่อระงับยับยั้ง สกัดกั้น หรือจับกุมผู้กระทำความผิดเท่านั้น โดยให้ดำเนินการและประสานการปฏิบัติกับศูนย์รับแจ้งเหตุ/ศูนย์วิทยุสื่อสารของหน่วยในทันที โดยไม่ต้องขออนุมัติผู้บังคับบัญชาระดับ หน.สน/สภ. ขึ้นไป

3.การตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ต้องได้รับอนุมัติจาก ผบก. ขึ้นไปทุกครั้ง หากพบว่ามีการตั้งจุดตรวจโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ผบก.ขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บก./ภ.จว. พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แล้วรายงานให้ ตร. ทราบทันที

4.กำชับในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ ให้ทุกหน่วยลงข้อมูลในสารสนเทศของ ตร. (Thai Police Checkpoint Control : TPCC ) โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร. ข้างต้นที่กำหนดแนวทางไว้แล้วอย่างเคร่งครัด และให้ หน.สน/สภ. ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด หากพบข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าว ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัย หัวหน้าด่านตรวจ จุดตรวจ จนถึง หน.สน/สภ.

5.ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. บช/ภ. และ บก/ภ.จว. สุ่มตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. กำหนด

6.ให้ รอง ผบช. และ รอง ผบก. ที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานจราจร และงานจเรตำรวจ ควบคุม กำกับ ดูแล และสุ่มตรวจการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. กำหนด ในกรณีที่ตรวจพบว่าการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว เช่น ป้ายข้อความตามที่กำหนด การจัดรูปแบบการตั้งด่านตรวจ/จุดตรวจ ป้ายไฟ การวางกรวยยาง กล้อง Body Camera กล้องวงจรปิด เป็นต้น ให้ผู้บังคับบัญชาที่ตรวจพบ แนะนำ ตักเตือน ให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว ทั้งนี้ให้ติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขในกรณีดังกล่าวด้วย
7.ให้ จต. สุ่มตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยรายงานผลการตรวจให้ ตร. (ผ่าน สยศ.ตร.) ทราบ ทุกวันที่ 5 ของเดือน แล้วให้ สยศ.ตร. สรุปรายงานให้ ผบ.ตร. ทราบ และนำเข้าที่ประชุมบริหาร ตร.

8.หากมีกรณีผู้บังคับบัญชาตรวจพบ หรือมีกรณีร้องเรียน หรือปรากฎเป็นข่าว หรือปรากฎตามสื่อสังคมออนไลน์และผลการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือเรียกรับสินบน ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช./ภ. พิจารณาดำเนินการทางวินัย อาญาและปกครอง แล้วแต่กรณี กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับ ดูแล จนถึง หน.สน./สภ. แล้วรายงานให้ ตร. ทราบทันที

9.หากผลการตรวจสอบตามข้อ 8 พบว่า ผู้บังคับบัญชาระดับ บก/ภ.จว. ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจในการควบคุม กำกับ ดูแล และกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาข้อบกพร่อง รอง ผบก. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และ ผบก. ในกรณีดังกล่าวด้วย

10.ให้ ผบช.น. ภ.1-9 ก. ผบก.น.1-9 ภ.จว. ทล. จร. และ หน.สน./สภ. ประชุมชี้แจง และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้ถือปฏิบัติตามหนังสือนี้อย่างเคร่งครัด โดยให้บันทึกการประชุมชี้แจง และกำชับไว้เป็นหลักฐานด้วย

11.ให้นำผลการดำเนินการติดตาม ควบคุม กำกับดูแลด่านตรวจ และจุดตรวจ พร้อมปัญหาข้อขัดข้องของหน่วยในสังกัดเข้าที่ประชุมบริหารของ บช.น. และ ภ.1-9 เป็นประจำทุกเดือน โดยให้ ผบก.น/ภ.จว. เป็นผู้รายงาน เพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด  
 
ทั้งนี้หนังสือสั่งการใดที่ขัดหรือแย้งกับหนังสือสั่งการนี้ ให้ใช้หนังสือนี้แทน

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม