วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 16:17 น.
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 กรณี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศเปิดท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน โดยช่วงแรกของการเปิดการท่องเที่ยว เข้าชมถ้ำหลวงในโถง 1-3 จะเปิดให้บริการในช่วงฤดูหนาวถึงร้อนและจะปิดบริการในช่วงฤดูฝน โดยจะเก็บค่าบริการ ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทย รายละ 950 บาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ รายละ 1,500 บาท ต้องจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์อุทยานถ้ำหลวง ซึ่งการเข้าชมจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน วันละ 2 รอบ เนื่องจากระยะทางเดิน 800 เมตรถึงโถง 3 และกลับออกมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ขณะที่หลายคนมองว่าการเก็บค่าเข้าชมดังกล่าวนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงเกินไป
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยถึงการตั้งราคา สำหรับการเข้าไปในพื้นที่ถ้ำหลวงนั้น มีการปรึกษากันหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจอร์ช แบรชลีย์ นักประดาน้ำชาวอังกฤษผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในภารกิจช่วยทีมนักฟุตบอลหมูป่าจากถ้ำหลวง ที่ให้คำแนะนำว่า พื้นที่ถ้ำหลวง เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่า เป็นพื้นที่พิเศษ เสี่ยงอันตรายสำหรับการเข้าไป ต้องมีอุปกรณ์พิเศษ และอาศัยทีมที่เชี่ยวชาญสำหรับการนำทางเข้าไป โดยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการจะเดินทางมา ซึ่งราคา 1,500 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 950 บาท สำหรับคนไทยนั้น ถือว่าไม่สูง
“สำหรับ ราคา 950 บาท ที่กำหนดไว้เป็นค่าเข้าไปชมในถ้ำนั้น อุทยานฯไม่ได้นำเข้าเป็นรายได้ของอุทยานทั้งหมด แต่แบ่งเป็น 1. ให้บุคคลากรนำเที่ยว 500 บาท ซึ่งแบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย 350 บาท เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2 คนๆ 100 บาท และผู้นำเที่ยวท้องถิ่น 50 บาท 2.นำเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตของกรมอุทยานฯ 150 บาท และ 3.นำเข้ากองทุนสวัสดิการถ้ำหลวง 300 บาท ซึ่ง จะนำไปใช้ เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน(เตรียมการ ) ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ในถ้ำและบริเวณด้านนอกที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ค่าประกันชีวิตเจ้าหน้าที่และ บุคคลากรนำเที่ยว เป็นต้น”
พื้นที่บริเวณ โถงที่ 1 ซึ่งมีระยะทาง 200 เมตร ของถ้ำหลวงนั้น ประชาชนยังสามารถเข้าเที่ยวชมได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ โถงที่ 2 และ3 เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษ ต้องมีคนนำทาง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปคนเดียวได้
ข้อมูล ถ้ำหลวง เป็นถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินเป็นเวลานาน มีขนาดใหญ่และลึกมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทยมีความยาว 10.3 กิโลเมตร มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออกปากถ้ำเป็นโถงกว้างและสูงกว่าโถงถ้ำแรก ภายในถ้ำสามารถพบเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ ถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่น ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง รอยระดับน้ำ หลุมยุบ โพรงเพดานถ้ำและรอยแตกของผนัง เปิดให้เข้าชมในช่วงเดือน พฤศจิกายน - เมษายน ปัจจุบันหลังจากเกิดเหตุการณ์เด็กติดในถ้ำ ได้งดการเข้าชมถ้ำภายในไว้ก่อน โดยสามารถเข้าชมได้บริเวณปากโถงถ้ำเท่านั้น
ทั้งนี้ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นที่รู้จักจากเหตุการณ์ภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า เมื่อปี 2561
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน