หน้าแรก > ต่างประเทศ

นักวิชาการพบกะโหลก “ไพลโอซอร์” สัตว์เลื้อยคลานนักล่าแห่งทะเล คาดมีอายุราว 150 ล้านปีก่อน

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลา 10:13 น.


12 ธ.ค 2566 สเตรตส์ไทมส์ อ้างอิงรายงานจาก บีบีซี หลังคณะนักบรรพชีวินวิทยาทำการสำรวจเจอ “ฟอสซิลกะโหลก” ความยาวราว 2 เมตร ของ “ไพลโอซอร์” (Pliosaur) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเลเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยค้นพบในพื้นที่ชายฝั่งจูราสสิค ทางตอนใต้ของอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

ไพลโอซอร์ คือ กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่กินเนื้อเป็นอาหาร อยู่ในทะเลซึ่งมีขากรรไกรที่แข็งแรง ฟันใหญ่ และคอสั้น และฟอสซิลไพลโอซอร์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดพบและจะถูกนำเสนอในรายการพิเศษวันปีใหม่ของเซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อดัง

ดร.สตีฟ เอชส์ นักบรรพชีวินวิทยา เปิดเผยกับบีบีซีว่า นายฟิล เจค็อบส์ ผู้ชื่นชอบและศึกษาเกี่ยวกับฟอสซิล ค้นพบกะโหลกไพลโอซอร์ระหว่างเดินเล่นริมชายหาดใกล้อ่าวคิมเมอริดจ์ บนชายฝั่ง จูราสสิค นี่เป็นหนึ่งในฟอสซิลที่ดีที่สุดที่เคยพบและความสมบูรณ์นี้คือสิ่งที่ทำให้การค้นพบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ฟอสซิลกะโหลกศีรษะของไพลโอซอร์ประกอบด้วยฟันแหลมคมและยาว 130 ซี่ และมีสันเล็กๆ เป็นเครื่องหมายที่ด้านหลังของฟันแต่ละซี่ ในฐานะอดีตสุดยอดนักล่าแห่งมหาสมุทรไพลโอซอร์มีขนาดตัวยาวระหว่าง 10-12 เมตร และมีขาคล้ายตีนกบ 4 ข้าง

จากหลักฐานฟอสซิลสันนิษฐานว่าไพลโอซอร์กินสัตว์เลื้อยคลานยุคดึกดำบรรพ์ชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร รวมถึงเพลสิโอซอร์ (Plesiosaur) และอิกทิโอซอรัส (Ichthyosaurus) หรือแม้แต่ไพลโอซอร์ก็อาจถูกกินกันเอง

เอมิลี เรย์ฟิลด์ นักบรรพชีวินวิทยาผู้ตรวจสอบฟอสซิล ประเมินว่าแรงบดในปากของไพลโอซอร์อยู่ที่ 33,000 นิวตัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจระเข้น้ำเค็มซึ่งมีกรามทรงพลังที่สุดในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตในยุคปัจจุบันจะใช้แรงประมาณ 16,000 นิวตัน

นอกจากนี้ยังพบว่าไพลโอซอร์มีหลุมเล็กๆ ภายในช่องจมูกสำหรับตรวจจับการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำที่เกิดจากเหยื่อซึ่งการค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าไพลโอซอร์มีประสาทสัมผัสที่แข็งแกร่งและเป็นประโยชน์ต่อการล่าเหยื่ออย่างมาก

ฟอสซิลชิ้นนี้ยังมีกระดูกสันหลังโผล่ออกมาทางด้านหลังกะโหลกศีรษะและมีกระดูกบางส่วนหลุดออกไป นั่นหมายความว่ามีฟอสซิลจำนวนมากของไพลโอซอร์ตัวนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่บนหน้าผาของชายฝั่งจูราสสิค

ดร.เอชส์กล่าวว่า “ผมเดิมพันด้วยชีวิตเลยว่าส่วนที่เหลือของสัตว์ตัวนี้ยังอยู่ที่นั่น และมันควรจะถูกนำออกมาเพราะมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็ว”

“แนวหน้าผาส่วนนี้จะร่นถอยประมาณปีละ 1 ฟุต (ราว 30 เซนติเมตร) และจะใช้เวลาไม่นานนักก่อนที่ไพลโอซอร์ส่วนที่เหลือจะหลุดออกและหายไป นี่เป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต”

ที่มา  straitstimes
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม