หน้าแรก > เศรษฐกิจ

รมว.แรงงาน ยืนยัน นำมติบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเข้า ครม. วันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.)

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลา 03:14 น.


รมว.แรงงาน ยืนยัน นำมติบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเข้า ครม. วันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.)

(11 ธ.ค.66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี (บอร์ดค่าจ้าง) ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ในเรื่องนี้ได้คุยกับนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานบอร์ดค่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการทบทวนค่าจ้างจะทำก่อนไม่ได้ ต้องนำมติของบอร์ดค่าจ้างเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) ตามกำหนดเดิม หาก ครม.ไม่เห็นด้วยและตีกลับให้ไปไปทบทวนถึงจะหารือกับบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี แต่หาก ครม.ไม่ตีกลับ บอร์ดค่าจ้างจะไปทบทวนเองก็คงทำไม่ได้ และตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็เป็นเพียงผู้ดูแลไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งหรือเข้าไปร่วมในห้องประชุมบอร์ดค่าจ้างเพราะจะถูกมองว่าการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ ทั้งนี้ หาก ครม.ให้กลับมาทบทวนค่าจ้างใหม่ จะหารือกับกฤษฎีกาว่าสามารถทบทวนได้หรือไม่ และหากจะเปลี่ยนเงื่อนไขบางข้อในการนำมาคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศจะทำได้แค่ไหน เพราะจะเห็นว่าในปี 2563-2564 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ยังถูกนำเอามาเป็นเกณฑ์ในการคิดค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี ซึ่งทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นผู้กำหนด 3 ข้อ ในการนำมาพิจารณาการปรับค่าจ้างคือ อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ในรอบ 5 ปี และอัตราค่าครองชีพ ซึ่งไทยเป็นสมาชิกของไอแอลโอจึงต้องปฏิบัติตาม หากกฤษฎีกาเห็นว่าสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขในบางข้อได้ โดยไม่ต้องเอาปี 2563-2564 มาหาค่าเฉลี่ยด้วยก็จะสามารถดำเนินการต่อได้ทันที เมื่อสามารถมีช่องเดินไปต่อได้ บอร์ดค่าจ้างก็กลับไปทบทวนค่าจ้างได้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวอีกด้วยว่า อาจสงสัยว่าทำไมในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงสามารถปรับค่าจ้างในอัตรา 300 ได้ทั่วประเทศ เป็นเพราะในขณะนั้นไอแอลโอยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ 3 ข้อนี้ให้ปฏิบัติ แต่พึ่งจะมากำหนดในปี 2560 และไทยต้องปฎิปฎิบัติตามโดยที่การเมืองจะเข้าไปแทรกแซงการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีไม่ได้ ค่าจ้างจะปรับขึ้นมากหรือปรับน้อยไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง โดยมีคณะกรรมการไตรภาคีในระดับจังหวัดเสนอตัวเลขขึ้นมา บางจังหวัดไม่เสนอปรับค่าจ้าง แต่บอร์ดค่าจ้างก็พิจารณาเสนอปรับขึ้นให้ แต่บางจังหวัดอาจจะน้อยเกินไป ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขในการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็จะทำให้อัตราค่าจ้างของประเทศสูงขึ้นไปกว่านี้ได้

ด้านนายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ถ้าค่าจ้างปรับสูงขึ้นลูกจ้างเห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นประโยชน์กับลูกจ้าง แต่ก็ต้องไม่สูงแบบก้าวกระโดดมากเกินไป การปรับค่าจ้างทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะต้องอยู่ได้ ประเทศไทยมีบทเรียนมาแล้วจากการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนนั้นนายจ้างผู้ประกอบการล้มลุกคลุกคลานกันไปตามกัน เพราะค่าจ้างปรับขึ้นครั้งเดียวสูงมาก นายจ้างรับมือไม่ไหวกว่าที่แต่ละรายจะทรงตัวยืนขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้งต้องใช้ระยะเวลานานมาก ราคาสินค้าค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทุกอย่าง อย่าเอาอัตราค่าจ้างในประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ที่มีอัตราค่าจ้างวันละประมาณ 1,000 บาท เพราะสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ของแต่ละประเทศต่างกัน 
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม