วันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 23:31 น.
นายกฯ ร่วมเฉลิมฉลอง UNESCO ประกาศให้สงกรานต์ในไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อมประกาศเจตนารมณ์สืบทอดประเพณีสงกรานต์สู่เทศกาลระดับโลก
(7 ธันวาคม 2566) เวลา 18.00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย “Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Intangible Cultural Heritage of Humanity) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐบอตสวานา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยปัจจุบันมรดกที่จับต้องไม่ได้ของไทยได้ขึ้นทะเบียนโดย UNESCO มาแล้ว 3 รายการคือ โขน นวดไทย และโนรา และ ล่าสุดสงกรานต์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่สร้างความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติกับประเทศไทย
โดยในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ฯ นี้ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย นายกรัฐมนตรีใช้โอกาสนี้ ประกาศเจตนารมณ์ 3 ข้อ เพื่อการรักษา และสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้
หนึ่ง ประเทศไทยจะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์ ประเพณีสงกรานต์ ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน
สอง ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน
สาม ประเทศไทยจะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาล และประชาชนไทย จะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เจตนารมณ์ทั้ง 3 ข้อ บรรลุผลสัมฤทธิ์ พร้อมจะสนับสนุนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นเทศกาลระดับโลกที่นำพาผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อน soft power อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน 2567 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากงานสงกรานต์แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่นดนตรี มหกรรม ร้านอาหาร ศิลปะ รวมถึงมหกรรมด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สงกรานต์ไม่ได้มีแค่การสาดน้ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จัดงานฉลองขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์การประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยของ UNESCO ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง โดยภายในงานยังมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนางสาวซูฮย็อน คิม (Ms. Soohyun Kim) ผู้อำนวยการสำนักงาน UNESCO กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทูตานุทูต และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานฉลองครั้งนี้ด้วย
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน