วันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 11:14 น.
วันที่5 ธันวาคม 2566 สำนักข่าวซินหัว รายงาน จีนปล่อยจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ซีอีอาร์อีเอส-1 วาย9 (CERES-1 Y9) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ตอน 07.33 น. ตามเวลาปักกิ่ง เพื่อขนส่งดาวเทียมใหม่สองดวงขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนด โดยการดำเนินการครั้งนี้นับเป็นภารกิจการบินที่ 11 ของจรวดขนส่งตระกูลซีอีอาร์อีเอส-1
จรวดซีอีอาร์อีเอส-1 พัฒนาโดยกาแล็กติก เอ็นเนอร์จี (Galactic Energy) จัดเป็นจรวดขนส่งเชื้อเพลิงแข็งขนาดเล็กสำหรับขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กสู่วงโคจรต่ำ โดยจรวดลำที่ใช้งานครั้งนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร ความยาวรวมราว 20 เมตร และน้ำหนักออกตัว 33 ตัน สามารถขนส่งอุปกรณ์บรรทุก 300 กิโลกรัม สู่วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ที่ความสูง 500 กิโลเมตร
นอกจากนั้นจรวดเชิงพาณิชย์ซีอีอาร์อีเอส-1 มีสมรรถนะการบรรทุกดาวเทียมเดี่ยวดวงเดียวและดาวเทียมกลุ่มหลายดวง จึงปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย โดยกาแล็กติก เอ็นเนอร์จี ได้ให้บริการลูกค้าด้านดาวเทียมเชิงพาณิชย์ 16 ราย และส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์หลายประเภททั้งหมด 35 ดวง
ภารกิจการปล่อยจรวดในวันอังคาร (5 ธ.ค.66) ถือเป็นครั้งแรกที่กาแล็กติก เอ็นเนอร์จี ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมหลายดวงสู่วงโคจรทไวไลต์ (twilight orbit) ซึ่งเป็นวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์แบบพิเศษที่ดาวเทียมจะข้ามเส้นศูนย์สูตรตอนราว 06.00 น. และ 18.00 น. อันเป็นเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในท้องถิ่น
รายงานระบุว่าดาวเทียมในวงโคจรทไวไลต์จะได้รับรับแสงอาทิตย์อยู่เสมอ เนื่องจากระนาบการโคจรและเส้นทไวไลต์ (twilight line) ของโลกเกือบตรงกัน ทำให้ดาวเทียมมีแหล่งพลังงานอยู่อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
สำหรับดาวเทียมใหม่สองดวงที่ขนส่งด้วยจรวดซีอีอาร์อีเอส-1 วาย9 ดวงหนึ่งจะมุ่งเน้นการตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางอุตุนิยมวิทยา ส่วนอีกดวงหนึ่งจะมุ่งเน้นการบริการดาวเทียมจับสัญญาณอันครอบคลุมพื้นที่กว้างแบบเรียลไทม์