วันที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 02:41 น.
กทม. ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาคนไร้บ้านและขอทาน ดันประปาแม้นศรีสู่ 'บ้านอิ่มใจ'
(4 ธ.ค.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและผู้ทำการขอทาน ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ คณะทำงานด้านคนไร้บ้านและผู้ทำการขอทาน ผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ที่ประชุมหารือแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยการเปิด "บ้านอิ่มใจ" ณ การประปาแม้นศรี เพื่อรองรับคนไร้บ้าน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ ปีงบประมาณ 67 และการจัดการปัญหาคนไร้บ้าน โดยจัดทำแผนคัดกรองคนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน และการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับคนไร้บ้าน รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูล โดยจัดทำฐานข้อมูลและเชื่อมข้อมูลสำหรับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร และหารือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน โดยการสำรวจผู้ทำการขอทาน การจัดทำแผนการลงพื้นที่เชิงรุก การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวงดให้เงินแก่ขอทาน รวมทั้งหารือการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ โดยจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับผู้แสดงความสามารถ การขออนุญาตใช้พื้นที่ออนไลน์สำหรับผู้แสดงความสามารถ และการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ
สำหรับสถานการณ์คนไร้บ้าน จากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ปี 2562 มีคนไร้บ้านรวมจำนวน 2,721 คน อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,029 คน อยู่ต่างจังหวัด 1,683 คน ปี 2563 มีคนไร้บ้านรวมจำนวน 3,534 คน อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,868 คน อยู่ต่างจังหวัด 1,666 คน ปี 2566 มีคนไร้บ้านรวมจำนวน 2,499 คน อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,271 คน อยู่ต่างจังหวัด 1,228 คน สำหรับสถานการณ์คนไร้บ้านกรุงเทพมหานคร ปี 2566 อยู่ในเขตพระนคร 585 คน คิดเป็นร้อยละ 46.03 อยู่ในเขตจตุจักร 96 คน คิดเป็นร้อยละ 7.55 อยู่ในเขตยานนาวา 78 คน คิดเป็นร้อยละ 6.14
ด้านผลการดำเนินงานการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 ขอทานเข้าสู่กระบวนการ 34 ราย(ซ้ำราย 16 ราย) แบ่งเป็น ขอทานต่างด้าว 16 ราย ขอทานไทย 17 ราย ปี 2565 ขอทานเข้าสู่กระบวนการ 94 ราย(ซ้ำราย 26 ราย) แบ่งเป็น ขอทานต่างด้าว 32 ราย ขอทานไทย 62 ราย ปี 2566 ขอทานเข้าสู่กระบวนการ 209 ราย(ซ้ำราย 66 ราย) แบ่งเป็น ขอทานต่างด้าว 71 ราย ขอทานไทย 138 ราย ปี 2567 (1 ต.ค.-30 พ.ย.66) ขอทานเข้าสู่กระบวนการ 58 ราย(ซ้ำราย 28 ราย) แบ่งเป็น ขอทานต่างด้าว 39 ราย ขอทานไทย 19 ราย
สำหรับสถิติการรับแจ้งพบผู้ทำการขอทาน ผ่านสายด่วน 1300 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 (ต.ค.65-ก.ย.66)จำนวน 513 เรื่อง ปี 2567 (ต.ค.-พ.ย.66) จำนวน 154 เรื่อง เขตที่พบขอทานมากที่สุด อันดับ 1 เขตวัฒนา อันดับ 2 เขตปทุมวัน อันดับ 3 เขตบางรัก อันดับ 4 เขตบางกะปิ อันดับ 5 เขตจตุจักร อันดับ 6 เขตคลองเตย และอันดับ 7 เขตราชเทวี สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ 1.แนวรถไฟฟ้า BTS ถนนสุขุมวิท แยกอโศก 2.แนวรถไฟฟ้า BTS สยาม Skywalk หน้าวัดปทุมวนาราม ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 3.แนวรถไฟฟ้า BTS ถนนสีลม วัดหัวลำโพง และ4.หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ