วันที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 01:22
“รอง ผบ.ตร.” ร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล ขานรับออกระเบียบ ระวังการส่งต่อข้อมูลล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หลังพบสถิติเด็กถูกล่วงละเมิดซ้ำทางโซเชียลมีเดีย สร้างรอยแผลภาพถูกบันทึกในโลกออนไลน์ ตรวจสอบกรณีคลิปชาวเยอรมัน
(4 ธ.ค.66) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( รอง ผบ.ตร. ) กล่าวถึงการประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล ( INTERPOL ) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยมีกลุ่มประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศ ร่วมประชุม
รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาตำรวจสากลได้เสนอแผนงานที่จะทำร่วมกันในปีต่อไปในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสังคมยุคใหม่ ทำให้การก่ออาชญากรรมทำได้อย่างรวดเร็วและมีการส่งต่อข้อมูลดิจิทัล ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ขณะที่ผู้ก่อเหตุก็มีช่องทางในการหลบหนีออกนอกประเทศหลังการกระทำผิด หรือไปกบดานตามประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อติดต่อกลุ่มเครือข่าย
ล่าสุดมีการนำเสนอคลิปวิดีโอสั้นที่เผยแพร่อยู่ในประเทศเยอรมนีและปิดบังการเข้าถึงของประเทศไทยภายในคลิปแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการค้ามนุษย์ของกลุ่มคนร้าย ซึ่งแม้ว่ากรณีนี้จะมีการจับกุมตัวคนร้ายได้ แต่หนึ่งในบางท่อนของคลิปวิดีโอระบุชัดว่า คนร้ายยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ข้าราชการเพื่อเปิดช่องทางในการหลบหนีออกจากประเทศไทย ไปยังประเทศปลายทางซึ่งเป็นแหล่งกบดาน
ที่ประชุมยังได้ เสนอที่จะออกระเบียบควบคุมการส่งต่อข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีความรัดกุมป้องกันข้อมูลหลุดรอดออกจากระบบไปถึงผู้ใช้รายอื่น รวมถึงการใช้ข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อติดตามคนร้าย ป้องกันการกระทำซ้ำในรูปแบบของเครือข่าย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวในเวทีการประชุม ว่าเห็นด้วยกับแนวทางการจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีความรุนแรงขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเอเชีย จะตกอยู่ในเป้าหมายของกลุ่มคนร้าย ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ การถ่ายทำคลิปวิดีโออนาจาร และการล่อลวงไปขายประเวณี
รอง ผบ.ตร.ยังย้ำด้วยว่า คลิปวิดีโอการกระทำผิดถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็วทางโซเชียลมีเดีย จนยากจะลบออกจากระบบ ทำให้เหยื่อถูกกระทำอนาจารซ้ำซาก แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ ภาพการถูกกระทำก็ยังฝังอยู่ในระบบ และมีข้อมูลไม่น้อยถูกส่งต่อโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ระมัดระวังในการใช้ข้อมูล ทำให้ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐตกไปอยู่ในมือของกลุ่มของคนร้าย ดังนั้นจึงเห็นด้วย ที่จะออกระเบียบให้ทุกประเทศเข้ามาร่วมกันจัดการปัญหาการส่งต่อข้อมูลเหยื่อถูกกระทำอนาจารอย่างระมัดระวัง และเปิดให้เข้าถึงข้อมูลในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การส่งต่อคลิปวิดีโออนาจารต้นฉบับเข้าไปในระบบ
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประเทศต้นทางของผู้ต้องหาและประเทศใกล้เคียง ร่วมกันสร้างแนวทางสกัดกั้นการหลบหนีของคนร้ายจากประเทศปลายทาง โดยให้กระทำอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งต่อข้อมูลหมายจับ เส้นทางทรัพย์สิน รวมไปถึงกลุ่มเครือข่ายเพื่อไม่ให้กลุ่มคนร้ายสามารถไปรวมตัวกันได้ และกระทำการอนาจารซ้ำไปซ้ำมา จนยากที่จะแก้ปัญหานี้ให้หมดสิ้นไป
ทั้งนี้ผลจากการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ( U.S. National Center for Missing and Exploited Children หรือ NCMEC ) และคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย ( Thailand Internet Crimes Against Children หรือ TICAC ) ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์จากเด็ก ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย สามารถเข้าถึงรายงานของ NCMEC เกี่ยวกับคดีการแสวงประโยชน์จากเด็กอย่างรวดเร็ว
และแม้ว่าปัจจุบัน TICAC จะได้รับข้อมูลจาก NCMEC ผ่านสำนักงานในไทยของหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา แล้ว แต่การได้รับข้อมูลโดยตรง จะช่วยให้ TICAC สามารถปฏิบัติการได้รวดเร็วฉับไวต่อกรณีฉุกเฉินและเข้าถึงข่าวกรองด้านอาชญากรรมได้โดยตรง เช่น การปราบปรามการแสวงประโยชน์จากเด็ก และนี่ทำให้สถิติการแก้ปัญหาในประเทศไทย ดีขึ้นตามลำดับ
พบว่า ในปี 2021 มีสถิติการจับกุมจากข้อมูล 79 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 589 ข้อมูล กระทั่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา ก็พบว่าในปี 2022 มีการจับกุมเพิ่มขึ้นจากข้อมูล 482 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 9,569 ข้อมูล ขณะที่ในปี 2023 จนถึงปัจจุบันมีการจับกุมจากข้อมูล 461 เคส มีการขยายผลไปสู่ข้อมูลเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง 8,328 ข้อมูล ทำให้คลิปที่ปรากฏอยู่ในระบบเกือบ 600,000 คลิป ลดลงมา เหลือเพียง 332,639 คลิป ในปีปัจจุบัน
สำหรับกรณีคลิปชาวเยอรมันที่สังคมกำลังให้ความสนใจนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวว่า งจากได้รับทราบเรื่องดังกล่าวโดยมีคนไทยในเยอรมันส่งคลิปมาให้ตรวจสอบ ก็ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบย้อนกลับถึงต้นปัญหาของคดีซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่ามีข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนของคดีอย่างไรจนเป็นที่มาให้ผู้ต้องหาประกันตัว และหลบหนีออกนอกประเทศไปได้
ทั้งนี้จากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่าตามระเบียบขั้นตอนปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรณีผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาตินั้น ระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่ซึ่งเป็นเจ้าของคดีจะต้องรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติให้ตำรวจตรวจคน เข้าเมืองรับทราบและเฝ้าระวังบัญชีรายชื่อของผู้ต้องหาเพื่อป้องกันการหลบหนีออกนอกประเทศ และยังต้องแจ้งไปยังกองการต่างประเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อประสานงานกับตำรวจสากลในการติดตามพฤติกรรมของผู้ต้องหา และท้ายที่สุดก็ต้องแจ้งไปยังศาลเพื่อคัดค้านการประกันตัวในกรณีที่ผู้ต้องหาก่อคดีการค้ามนุษย์และเป็นชาวต่างชาติ หากละเลยขั้นตอนปฏิบัติใดไปจุดหนึ่งก็อาจทำให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว และเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาชาวเยอรมันที่เดินทางออกนอกประเทศไปได้
ขณะที่ นายเจอร์เก้น สต๊อก เลขาธิการตำรวจสากล อินเตอร์โพล กล่าว ขอบคุณกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 196 ประเทศที่ให้ความร่วมมือเข้ามาติดตามประเมินผลการบริหารงาน ของตำรวจสากล ซึ่งในปีนี้มีผลงานการดำเนินการที่ก้าวกระโดดจากการ แสวงหาความร่วมมือร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าในปีต่อไปก็จะประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นโดยในปีหน้าจะย้ายสถานที่การประชุมไปที่ประเทศสกอตแลนด์เป็นครั้งที่ 93 หรือปีที่ 101 ของการก่อตั้ง ตำรวจสากล
เครดิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน