วันที่ 4 ธันวาคม 2566 เวลา 04:40 น.
‘รมช.อนุชา’ ชื่นชมความสำเร็จ พื้นที่ Agri-Map ยกเป็นตัวอย่างเกษตรกร ปรับเปลี่ยนสู่ร่ำรวย เกษตรกรปลื้มรายได้เพิ่มขึ้น ได้มีโอกาสจับเงินล้าน มีอนาคตที่ดีขึ้น
ดีขึ้น
(3 ธันวาคม 2566) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) กิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map (เกษตรผสมผสานและปศุสัตว์) พร้อมพบปะประชาชน เกษตรกร และหมอดินอาสา ณ พื้นที่แปลงเกษตรกร นายวิชาญ นามอาษา หมอดินอาสา ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิต ไปสู่กิจกรรมการผลิตที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตร จากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลเกษตร เศรษฐกิจและสังคม สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ และบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิต และการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี
”ประเทศไทยมีเกษตรกรเป็นกำลังหลัก ผมจึงมีนโยบาย "เงินบาทแรกของแผ่นดิน" คือ ให้ความสำคัญกับเงินจากน้ำ เงินจากดิน เงินจากหญ้า ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินภาคเกษตร โดยเป้าหมายหลัก ต้องการเห็นพี่น้องเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน และต้องการเห็นลูกหลานเกษตรกรไทยมีอนาคตที่ดี มีรายได้ กลับมาทำอาชีพเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรแบบเดิมที่ปลูกพืชชนิดเดียว ให้มีอาชีพเสริมด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาทำปศุสัตว์ เช่น ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ หรือเลี้ยงโค เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะเพียงแค่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ก็สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวให้มั่นคงได้ เช่นเดียวกับพื้นที่แปลงเกษตรแห่งนี้ของนายวิชาญที่ประสบความสำเร็จ นับเป็นการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่าง เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือในการมุ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาทำภาคปศุสัตว์เชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยจะหลุดพ้นความยากจน มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมมุ่งหวังและเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง“ นายอนุชา เน้นย้ำ
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า จากการพูดคุยกับเกษตรกรเจ้าของแปลง พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยยอมรับว่าการทำนาแบบแต่ก่อนนั้นทำมากแต่รายได้น้อย แต่เมื่อมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว 15 ไร่ มีรายได้ตลอดปี 14,940 บาท หลังปรับเปลี่ยนพื้นที่ รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 148,700 บาท มีรายได้เพิ่มจากการขายมูลวัว ผลผลิตพืชบนคันดิน เป็ดไก่ ปลา เป็นต้น มีรายได้หมุนเวียนทุกวัน และเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-map ภายใต้โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) ซึ่งผลดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 - 2566 สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว เป็นกิจกรรมการเกษตรอื่น จำนวน 649,532 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกพืชผสมผสาน 542,217 ไร่ ประมง 20,178 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 87,137 ไร่ ในส่วนจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ปลูกข้าว 1,893,080 ไร่ พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว 596,884 ไร่ การดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 - 2566 ของ จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการแล้วรวมพื้นที่ 30,218 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 4,133 ราย
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์