วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03:19 น.
DSI จับกุมคู่ผัว-เมีย แอบอ้างให้เลขล็อคสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หลอกลวงประชาชน ผู้เสียหายกว่า 3,000 ราย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายสมฤกษ์ ตั้งคารวคุณ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย (ศรภ.บก.ทท.) และกองบังคับการควบคุมผาทมิฬ หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก โดย กองร้อยทหารม้าที่ 4 หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง นำหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงราย ที่ ค.329 - 332/2566 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2566 เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักใน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อทำการจับกุมนาย เอ (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2643/2566 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 และนางสาว บี (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2644/2566 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 ในคดีความผิดฐาน “ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”
คดีนี้ สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่ามีผู้จัดทำเอกสารปลอมและโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย ใช้ชื่อและใช้ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อแอบอ้างให้ประชาชนหลงเชื่อว่าหากสมัครสมาชิกจะได้รับเลขล็อคจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและถูกรางวัล 100 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ถูกยินดีคืนเงิน โดยมีค่าสมัครสมาชิกตั้งแต่ 600 – 1,200 บาทต่อครั้ง แม้เงินที่หลอกลวงแต่ละครั้งจะไม่สูงมากแต่เน้นปริมาณในการหลอกคนจำนวนมาก แต่เมื่อรวมแล้วภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ มูลค่าความเสียหายสูงหลายสิบล้านบาท โดยพบว่ามีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 3,000 ราย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้อนุมัติให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯ ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนทราบแน่ชัดว่ากลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวคือ นายเอ และนางสาวบี ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน ผลการตรวจค้นบ้านพักของบุคคลทั้งสองพบของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดหลายรายการ อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ บัตรเอทีเอ็ม สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น
เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การว่าได้เรียนรู้วิธีการในการกระทำความผิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับกลุ่มเว็บพนันออนไลน์ จึงเชื่อว่ายังมีกลุ่มผู้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายกลุ่ม
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ทำการสืบสวนขยายผลเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอแจ้งเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาหลอกลวงประเภทนี้ และหากประชาชนต้องการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับคดีความผิดสามารถใช้การติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.dsi.go.th แบนเนอร์ “ร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส” เพื่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป