วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 02:13 น.
กทม. ลุยเก็บกระทงทั่วกรุงฯ ตลอดทั้งคืน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมรายงานยอดเก็บกระทงพรุ่งนี้ 7 โมง
(27 พ.ย. 66) นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ Chief Sustainability Officer (ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร) พร้อมด้วยนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอาฤทธิ์ ศรีทองและนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร (ใต้สะพานพระปกเกล้า) เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานครเป็นประเพณีต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปี 2566 กำหนดจัดงาน ใน 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ซึ่งภายหลังการจัดงาน กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้ สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 168 คน เรือเก็บขยะจำนวน 31 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน เพื่อใช้ในการลําเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
ในส่วนของอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดในการจัดเก็บกระทงครั้งนี้ อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไม่มีการจัดงานจะไม่มีไฟส่องสว่าง ทำให้การจัดเก็บกระทงเป็นไปได้ยาก มีผักตบชวาปริมาณมากในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ยากต่อการจัดเก็บกระทง พบตะปู เข็มหมุด ปนมากับกระทง ทำให้เกิดอันตรายกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงและทำให้เครื่องจักรเสียหาย สำหรับในแม่น้ำเจ้าพระยากำหนดจุดเก็บขนถ่ายขยะกระทง 2 แห่ง คือ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง สะพานพุทธฯ เขตพระนคร และบริเวณท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ พร้อมแยกจำแนกประเภทกระทงให้เสร็จในเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (28 พ.ย. 66) โดยจะรายงานผลการจัดเก็บผ่านเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร www.bangkok.go.th และผ่านสื่อต่าง ๆ
นอกจากนี้ ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนเห็นความสำคัญและมีความตระหนักใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการลอยกระทงควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทราบ ซึ่งวิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง ให้ประชาชนลอยกระทงร่วมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว/1 คู่รัก/1 กลุ่ม/1 สำนักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำ จากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ จึงขอเชิญชวนให้ใช้กระทง ธรรมชาติ ลดการใช้กระทงโฟม โดยหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย หรือกระทงขนมปัง เนื่องจากกระทงดังกล่าวจะไม่ทำลาย สภาพแวดล้อม หากเก็บกระทงไม่หมดก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและใช้เวลานานในการย่อยสลายซึ่งแตกต่างจากกระทงโฟมที่ต้องกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ
ทั้งนี้ในปี 2565 กรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้จำนวนทั้งสิ้น 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 อย่างไรก็ตามกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติ แทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์