วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:01 น.
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง มักเกิดอุบัติเหตุจากการจุดพลุดอกไม้ไฟและการปล่อยโคมลอย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้รับอันตราย
เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากพลุดอกไม้ไฟ-โคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทง ดังนี้ การเล่นพลุดอกไม้ไฟ ควรเล่นอย่างถูกวิธี ห้ามจุดพลุดอกไม้ไฟบริเวณใกล้แนวสายไฟ แหล่งชุมชน สถานีบริการน้ำมันและวัตถุไวไฟ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้
รวมถึงไม่โยนพลุดอกไม้ไฟใส่กลุ่มคน และควรอยู่ให้ห่างจากบริเวณจุดพลุดอกไม้ไฟในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ไม่ดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟให้มีเสียงดังหรือแรงอัดสูง อีกทั้งหลีกเลี่ยงการนำพลุดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติดมาจุดไฟซ้ำ เพราะก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ หลังจากเล่นพลุดอกไม้ไฟ ควรตรวจสอบสถานที่เล่นให้เรียบร้อย เก็บเศษพลุดอกไม้ไฟและดับประกายไฟให้หมด เพื่อป้องกันเพลิงไหม้
ส่วนผู้ที่ปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ควรปล่อยโคมลอยบริเวณที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งชุมชนและแนวสายไฟ เลือกใช้โคมลอยที่ได้มาตรฐาน
โดยโครงทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษบาง ไม้ไผ่ เชือก และไม่ตกแต่งด้วยวัสดุติดไฟได้ง่าย ไม่ดัดแปลงโคมลอยให้ลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน เพราะไม่สามารถเผาไหม้ได้หมดกลางอากาศ เมื่อตกลงสู่พื้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่สำคัญ ห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณโดยรอบสนามบินหรือช่วงที่เครื่องบินขึ้น - ลง เพราะจะรบกวนทัศนวิสัยในการบิน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานได้ เพื่อความปลอดภัยควรปล่อยโคมลอยในช่วงเวลาและบริเวณที่กำหนดไว้
ท้ายนี้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID 1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน