หน้าแรก > สังคม

เตือน! ข้าราชการเกษียณยื่นรับบำเหน็จบำนาญ ด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10:16 น.


ตำรวจไซเบอร์ เตือน! ข้าราชการเกษียณยื่นรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง ระมัดระวังเว็บไซต์และแอปปลอม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เตือนภัยข้าราชการเกษียรยื่นรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม แอปพลิเคชันปลอมของมิจฉาชีพที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน

โดยตามที่รองโฆษกรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้อำนวยความสะดวกให้กับข้าราชการ และลูกจ้างประจำที่พ้นราชการ เนื่องจากเกษียณอายุในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยสามารถยื่นคำขอรับบำเหน็จบำนาญล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ก่อนวันครบเกษียณอายุได้ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’ Electronic Filing) หรือ ระบบ e-Filing ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง https://www.cgd.go.th/ หรือผ่านแอปพลิเคชัน Digital Pension นั้น

ที่ผ่านมิจฉาชีพมักฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ให้ประชาชนที่หลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน รวมถึงข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำชุดหมายเลขที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี หรือไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น รวมไปถึงกรณีการส่งลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ซึ่งฝังมัลแวร์มาดักรับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของเหยื่อ เป็นต้น นอกจากเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอมแล้ว เหล่ามิจฉาชีพอาจหลอกลวงประชาชนในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางโทรเข้ามาหลอกลวงประชาชน ออกอุบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะเปลี่ยนเพียงแค่ชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม