หน้าแรก > สังคม

องค์การอนามัยโลกประกาศ “ความเหงา” เป็นภัยคุกคามสุขภาพทั่วโลก

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08:13 น.


องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการนานาชาติเกี่ยวกับปัญหา “ความเหงา” นำโดยนพ.วิเวก มูรธี ศัลยแพทย์ใหญ่สหรัฐฯ และชิโด เอ็มเปมบา ทูตด้านเยาวชนของสหภาพแอฟริกา รวมถึงนักเคลื่อนไหวและรัฐมนตรีอีก 11 คน เช่น ราล์ฟ เรเกนวานู รัฐมนตรีกระทรวงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของวานูอาตู และอายูโกะ คาโต้ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบมาตรการเกี่ยวกับความเหงาและการแยกตัวจากสังคมของญี่ปุ่น

การตั้งคณะกรรมาธิการนี้มีขึ้นหลังจากที่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหยุดชะงัก ส่งผลให้ระดับความเหงาเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็รวมถึงกระแสตื่นตัวที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 3 ปี

“ความเหงากำลังกลายเป็นข้อกังวลด้านสาธารณสุขระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการพัฒนาในทุกด้าน ความโดดเดี่ยวทางสังคมไม่มีอายุหรือขอบเขต” ความเสี่ยงด้านสุขภาพนั้นแย่พอๆ กับการสูบบุหรี่มากถึง 15 มวนต่อวัน และมากกว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและการไม่ออกกำลังกายอีกด้วย นพ.วิเวก เมอร์ธีกล่าว

ในผู้สูงอายุ ความเหงามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะพัฒนาภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 50% และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง 30% เท่านั้นไม่พอ ความเหงายังบั่นทอนชีวิตของคนหนุ่มสาวอีกด้วย

โดยงานวิจัยเมื่อปี 2022 ระบุว่า วัยรุ่น 5 – 15% มีภาวะเหงา ซึ่งตัวเลขมีแนวโน้มว่าจะถูกประเมินต่ำไป ขณะที่ในแอฟริกา มีวัยรุ่น 12.7% เผชิญกับความเหงา เทียบกับ 5.3% ในยุโรป

คนหนุ่มสาวที่ประสบปัญหาความเหงาที่โรงเรียนมีแนวโน้มที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ความเหงายังส่งผลไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลง ความรู้สึกแปลกแยก และไม่ได้รับการสนับสนุนในงานอาจทำให้ความพึงพอใจและประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม