วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11:57 น.
กองบังคับการปราบปราม ร่วมกันจับกุม น.ส.ดวงกมล อายุ 40 ปี ฐาน "ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” โดยจับกุม อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ และตรวจยึดของกลาง ได้แก่ 1.ตรวจยึดบัตรกดเงินสด 14 ใบ, 2.ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง 3.สมุดบัญชี 7 เล่ม
พฤติการณ์ด้วยเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 ผู้เสียหาย ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. โดยกล่าวหาว่า ตนเองถูก น.ส.ดวงกมล แอบอ้างว่าตนนั้นมีโควตาสลากินแบ่งรัฐบาล หรือรู้จักกับบุคคลซึ่งมีโควตาสลากฯ จึงทำให้มีผู้สนใจร่วมลงทุนด้วยเป็นจำนวนมาก ได้กำไรผลตอบแทนในช่วงแรก แต่มาภายหลังไม่สามารถติดต่อได้ บ่ายเบี่ยง กระทั่งทราบว่าไม่มีสลากดังกล่าวอยู่จริง จนสูญเสียทรัพย์สินเป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการสืบสวนทราบว่า เมื่อประมาณปลายปี 2563 ผู้เสียหายได้รู้จักกับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียง อ้างว่ารู้จักกับเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาลของจังหวัดศรีสะเกษ มีโควตาลอตเตอรี่จำหน่ายในราคาถูก จึงได้ชักจูงผู้เสียหายร่วมลงทุน ผู้เสียหายจึงได้ตกลงซื้อและโอนเงินให้กับผู้ต้องหา จำนวน 300,000 บาท และได้รับลอตเตอรี่ตามที่ตกลงกันไว้ จึงเกิดความเชื่อใจ และร่วมลงทุนซื้อขายด้วยเรื่อยมา
ต่อมาเดือนมกราคม 2565 เริ่มมีปัญหา น.ส.ดวงกมล ส่งลอตเตอรี่ไม่ครบตามที่ได้ตกลงกันไว้โดยอ้างว่าจะส่งเพิ่มให้ในเดือนถัดไป แต่เมื่อถึงกำหนดก็ส่งไม่ครบและพูดในลักษณะเดิมเรื่อยมาในทุกๆ งวด จนมีจำนวนลอตเตอรี่ที่คงค้างที่ผู้เสียหายต้องได้รับอยู่จำนวนมาก และหากต้องการลอตเตอรี่เพิ่มมากขึ้นจะต้องจัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัท และต้องทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายลอตเตอรี่กับสำนักงานกินแบ่งรัฐบาล ทั้งยังอ้างอีกว่าสามารถหาลอตเตอรี่มาให้ผู้เสียหาย ได้ประมาณ 5,000 – 10,000 เล่ม ต่องวด ผู้เสียหายซึ่งเคยได้กำไรจากการจำหน่ายลอตเตอรี่จึงได้ตัดสินใจไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
จนกระทั่งเดือน พฤษภาคม 2566 น.ส.ดวงกมล ได้ส่งหนังสือประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่องแจ้งให้ผู้เสียหาย ไปทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่กรุงเทพ ผู้เสียหายจึงได้เดินทางจาก จ.ศรีสะเกษ เพื่อมาทำสัญญา แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการ
น.ส.ดวงกมล จึงให้บุคคลหนึ่งให้มารับเอกสารจากผู้เสียหาย ไปซึ่งไม่เคยรู้จักและไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2566 นางดวงกมล ได้มาหาผู้เสียหาย และได้ทำการบล็อกหมายเลขโทรศัพท์หนึ่งในโทรศัพท์ของผู้เสียหาย อ้างว่าเป็นเบอร์ของเพื่อน ไม่อยากให้โทรมารบกวน ผู้เสียหาย เกิดความสงสัยจึงได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์อื่นโทรไป จึงทราบว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของนางสายสมร ซึ่งเป็นเพื่อนกับน.ส.ดวงกมล โดย น.ส.ดวงกมล ได้อ้างกับนางสายสมร ว่า นางนิธิกานต์(ผู้เสียหายในคดี) เป็นเจ้าของบริษัทจำหน่ายลอตเตอรี่จะขายให้ นางสายสมรหลงเชื่อจึงโอนเงินซื้อลอตเตอรี่ให้กับน.ส.ดวงกมล สอบถามนางสายสมรฯ จึงทราบว่าน.ส.ดวงกมลฯ อ้างกับนางสายสมรฯว่ามารับลอตเตอรี่จากผู้เสียหาย เพื่อไปจำหน่ายให้กับนางสายสมรฯ ผู้เสียหายจึงทราบว่าเอกสารหนังสือสัญญาตัวแทนจำหน่ายฯ ดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารปลอม เป็นเพียงกลอุบายสร้างเรื่องหลอกลวงให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อเท่านั้น ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เป็นเงินที่จองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับ น.ส.ดวงกมล รวมประมาณ 6,480 เล่ม และสลากดิจิตอลอีกจำนวนกว่า 20,000 เล่ม รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 180 ล้านบาท พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. และจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ และศาลอนุมัติตามหมาย
ต่อมา พ.ต.ท.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ รอง ผกก.3 บก.ป พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำกำลังลงพื้นที่เข้าตรวจค้นจับกุม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ทำการจับกุม น.ส.ดวงกมล พร้อมทั้งตรวจยึดของกลาง ได้แก่ 1.ตรวจยึดบัตรกดเงินสด 14 ใบ, 2.ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง และ3.สมุดบัญชี 7 เล่ม จากการตรวจสอบโทรศัพท์ทั้ง 6 เครื่อง ที่อยู่ในครอบครองของน.ส.ดวงกมลฯ พบว่า มีการปลอมไลน์ เพื่อใช้แอบอ้างให้ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นบุคคลอื่นจริง เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนซื้อลอตเตอรี่กับตน และยังพบว่ามีการใช้ถ้อยคำและรูปภาพ ดูหมิ่นเบื้องสูง ในโทรศัพท์ที่ น.ส.ดวงกมลฯ ใช้งานอยู่ อย่างชัดเจน เมื่อจำนนด้วยหลักฐาน น.ส.ดวงกมลฯ จึงรับว่า เนื่องจากถูกผู้เสียหายจี้ทวงเงินอย่างหนัก จึงคิดหาทางออกโดยการแอบอ้างเบื้องสูง ที่ทำไปเพราะขาดสติ และรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ทำเป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้นำตัวผู้ต้องหาและของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป