หน้าแรก > อาชญากรรม

‘ราชทัณฑ์’ ยืดอกรับผิดหากล่า ‘เสี่ยแป้ง’ กลับคุกไม่ได้ เผย 4 ผู้คุมยังปัดเอี่ยว

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 13:22 น.


จากกรณีนายเชาวลิต ทองด้วง หรือเสี่ยแป้ง นาโหนด อายุ 37 ปี ผู้ต้องโทษในความผิดคดีปล้นทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ พ.ร.บ.อาวุธปืน กำหนดโทษรวม 21 ปี 3 เดือน 25 วัน และจะพ้นโทษในวันที่ 6 พ.ค. 2586 ก่อนก่อเหตุหลบหนีขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. ต่อมาศาลออกได้อนุมัติหมายจับ 7 ผู้ช่วยเหลือเสี่ยแป้ง เป็นหญิง 3 ราย และ ชาย 4 ราย  ในฐานความผิดร่วมกันกระทำการด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจศาลซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปหลุดพ้นจากการคุมขังไป

โดยล่าสุดจับกุมได้แล้ว 6 ราย ขณะที่เสี่ยแป้ง และ นายสุทธิวัฒน์ ยังอยู่ระหว่างหลบหนีกบดาน และศาลได้ออกหมายจับนายเชาวลิต ในความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ทั้งนี้ ยังมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่านายเชาวลิต อาจจะหลบหนีไปถึงประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบของคณะกรรมการราชทัณฑ์ เรื่องการหลบหนีของผู้ต้องขังชาย จากเดิมที่จะมีการสรุปรายงานผลการตรวจสอบในวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา

ขอเรียนว่าขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ยังคงอยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบต่อเนื่อง เพราะค่อนข้างมีเนื้อหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และเราไม่ได้ตรวจสอบเพียงเจ้าหน้าที่ผู้คุมราชทัณฑ์ในวันเกิดเหตุที่มี 4 ราย (ผลัดเช้าและผลัดบ่าย) แต่เราตรวจสอบทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลที่เราได้รับมามันพาดพิงไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เราต้องนำไปตรวจสอบร่วมด้วย ข้อมูลบางส่วนมาจากคำให้การซัดทอดของทั้ง 4 เจ้าหน้าที่ผู้คุม

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ราชทัณฑ์เองต้องพิจารณาประกอบกับระบบของราชทัณฑ์ หรือระเบียบของราชทัณฑ์ ว่ามันมีความบกพร่องในระหว่างเวรงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก่อนเกิดเหตุการณ์การหลบหนีของผู้ต้องขังหรือไม่ เช่น ตั้งแต่วันแรกที่นายเชาวลิตเข้ามาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นอย่างไร การอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ มีความถูกต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่

รวมถึงประเด็นการเลื่อนนัดหมายของแพทย์ ว่าเจ้าหน้าที่ได้รับทราบการเลื่อนนัดนั้น ก่อนที่จะคุมตัวนายเชาวลิตออกไปโรงพยาบาลหรือไม่ หรือว่าได้รับทราบการเลื่อนนัดของแพทย์เมื่อไปถึงที่โรงพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเราดูทั้งหมด ใครที่เกี่ยวข้องต้องร่วมรับผิดชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อถามว่ายังไม่สามารถสรุปได้ใช่หรือไม่ว่าทั้ง 4 ผู้คุมราชทัณฑ์ในวันเกิดเหตุ มีความเกี่ยวข้องร่วมช่วยเหลือแผนการหลบหนีของ นายเชาวลิต นายสหการณ์ เผยว่า ยังไม่สามารถสรุปเช่นนั้น เพราะคณะกรรมการยังคงต้องตรวจสอบให้ครบทุกประเด็น และทุกประเด็นจะต้องสะเด็ดน้ำ เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องในประเด็นใด

อีกทั้งตนยังไม่ได้รับรายงานรายละเอียดเชิงลึกจากคณะกรรมการ คาดว่าจะมีการรายงานมาต่อเมื่อเป็นไปตามพยานหลักฐานที่พบและตรวจสอบครบถ้วนแล้ว ยืนยันว่าการตรวจสอบครั้งนี้ เน้นไปที่ความบกพร่องของราชทัณฑ์ ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งและกำชับว่าขอให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่สังคมเฝ้าจับตา และรอการชี้แจงของราชทัณฑ์ อย่างไรคงต้องรอประธานคณะกรรมการนำเสนอมาก่อนว่าจะขอขยายกรอบเวลาการตรวจสอบออกไปอีกกี่วัน

ต่อข้อถามว่าได้รับทราบรายละเอียดในประเด็นที่ในวันเกิดเหตุ ทำไม 2 ผู้คุมราชทัณฑ์ในผลัดบ่าย (ช่วงกลางดึก) ปล่อยให้นายเชาวลิตนอนอยู่บนเตียงคนป่วย โดยไม่มีผู้คุมเฝ้าสักราย เวลานั้นทั้งคู่ไปอยู่ไหน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรบ้าง

นายสหการณ์ เผยว่า เบื้องต้นผู้คุมราชทัณฑ์ มีการชี้แจงอ้างว่าในห้องผู้ป่วยรวมดังกล่าวมีความหนาแน่นแออัด จึงตัดสินใจออกมาจากห้องคนไข้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และพยาบาลที่กำลังให้การรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ แต่การกล่าวอ้างเช่นนี้ยังรับฟังไม่ได้ เพราะเมื่อผู้คุมมีผู้ต้องขังอยู่ในความรับผิดชอบดูแล ต้องปฏิบัติหน้าที่ ห้ามละเลย ทั้งคู่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามระเบียบแต่อย่างใด

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องเครื่องพันธนาการจะต้องเเน่นหนา ที่ผ่านมามีการรายงานข่าวว่าผู้คุมได้ขยายโซ่ตรวนของผู้ต้องขังจึงเกิดการหลวมนั้น ตรงนี้เป็นการสันนิษฐาน อย่างไรต้องขอรอรายละเอียดรายงานจากคณะกรรมการก่อน  "ทั้ง 4 คุมราชทัณฑ์ในวันเกิดเหตุ ยังไม่มีใครให้การยอมรับว่าได้ร่วมวางแผน หรือให้การช่วยเหลือนายเชาวลิตให้หลบหนีจาก รพ.มหาราชนครศรีธรรมราชไปได้ เพราะไม่มีใครที่จะกล้าพูดว่าตัวเองให้การช่วยเหลือ แต่เราเน้นที่พยานหลักฐานเป็นสำคัญ และตอนนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินของทั้ง 4 ผู้คุมว่ามีการรับผลประโยชน์ มีการรับเงิน เอื้อประโยชน์ในส่วนใดหรือไม่ และต้องตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ที่เคยเข้าเยี่ยมนายเชาวลิตด้วย" นายสหการณ์ ระบุ

นายสหการณ์ เผยอีกว่า สำหรับการที่นายเชาวลิตว่าจ้างคนนอกให้เฝ้าไข้นั้น ตนยืนยันว่าผิดระเบียบของราชทัณฑ์ เพราะไม่มีส่วนใดที่อนุญาตให้ดำเนินการได้ เพราะจริงๆแล้วหน้าที่ตรงนี้จะต้องเป็นของผู้คุมราชทัณฑ์ที่จะต้องดูแลผู้ต้องขังของตัวเอง จะต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยเป็นอันดับแรก คาดว่าคนเฝ้าไข้รายดังกล่าว (น.ส.วิลาวัลย์ หมื่นรักษ์ หรือไหม) จะมีการตีเนียนคล้ายเป็นญาติที่เดินทางเข้าเยี่ยม

เนื่องจากทั้ง 4 ผู้คุมราชทัณฑ์ปฏิเสธว่าไม่รับรู้ในส่วนของผู้เฝ้าไข้รายนี้ เข้าใจว่าเป็นญาติเดินทางมาเยี่ยมนายเชาวลิต อย่างไรก็ตาม จะต้องไปตรวจสอบว่าแต่ละคนที่เข้ามาพบนายเชาวลิตที่ รพ. อยู่ในรายชื่อที่มีการระบุไว้ว่าจะเข้าเยี่ยมหรือไม่ หากไม่มีรายชื่ออยู่ในนั้น ถือว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการในการให้ความช่วยเหลือนักโทษ แล้วจะเป็นความผิดในส่วนของผู้คุมที่ปล่อยปละละเลยให้บุคคลเหล่านี้เข้าพบผู้ต้องขังรายสำคัญอย่างประชิดตัวได้อย่างไร

เมื่อถามว่าหากไม่สามารถติดตามตัวนายเชาวลิตกลับมาได้ เพราะล่าสุดได้มีการปรับเงินรางวัลนำจับจาก 100,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท กรมราชทัณฑ์จะรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

นายสหการณ์ เผยว่า ต้องยอมรับว่ามันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์เอง โดยเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้ การรับผิดชอบนั้น ประการที่หนึ่ง คือ ต้องนำผู้ที่กระทำความผิดมารับผลทางกฎหมาย ประการที่สอง คือ ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขในระบบของราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยที่มันจะมีช่องโหว่ให้สามารถใช้ดุลพินิจในทางที่ไม่เหมาะสมหรือเอื้อประโยชน์ได้ ตรงนี้จะต้องรีบปรับปรุงทบทวนแก้ไขด่วน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม