หน้าแรก > เศรษฐกิจ

ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 90.7% เล็งออก 3 นโยขบาย ตั้งเป้าลดหนี้ต่ำ 80% ต่อจีดีพี

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 10:46 น.


30 ตุลาคม 2566   นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อจีดีพี โดยเป้าหมายของ ธปท. คือ หนี้ครัวเรือนควรลงมาอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี ให้ได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤติต่างๆ รวมถึงสถานการณ์โควิดที่ไม่เอื้อให้หนี้ครัวเรือนลดลง ดังนั้น เป้าหมายที่ผ่านมาจึงเป็นเป้าหมายใหญ่และในวงกว้าง เพื่อทำให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ถูกจุด และแก้ในระยะยาว รวมทั้งทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาถึงเป้า 80% ต่อจีดีพี ธปท.ได้ออกนโยบายที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ได้แก่

1.เรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และต้องคำนึงถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นตัวตั้ง โดยเรื่อง responsible lending จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2567

2.เรื่องการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นหนี้ที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย ไม่เคยตัดต้นเลย จึงไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยกลุ่มคนที่เป็นหนี้เรื้อรังมีค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน โดยให้ลูกหนี้ที่ต้องการปิดจบหนี้เข้ามาหาสถาบันการเงิน และหาวิธีที่จะปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี และให้คิดดอกเบี้ยที่ 15% ซึ่งมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2567

3.อีกเรื่องที่จะออกมา คือ เรื่องกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย Risk-Based Pricing (RBP) ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีสินเชื่อที่กำหนดเพดานเอาไว้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะปล่อยสินเชื่อตามเพดานที่กำหนด แต่การกำหนดเพดานดังกล่าว บางทีเป็นดาบ 2 คม คือ ทำให้มีลูกหนี้บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

“ดังนั้น การทำเรื่อง risk-based pricing จะให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามความเสี่ยง และก็หวังว่ากลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยชนเพดาน จะได้ดอกเบี้ยลดลงด้วย”
ขณะที่ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน เพื่อให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนของประเทศลดลง จากปัจจุบันที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงเกินกว่า 90 % ต่อ GDP ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าลดเพดานหนี้ลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 80 %

ล่าสุดธนาคารออมสิน ได้นำร่องโครงการแก้ไขหนี้รายย่อยลูกค้าธนาคาร ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.66 มีประชาชนสนใจเข้าร่วมกว่า 15,000 คน รวมมูลหนี้ที่แก้ไขได้กว่า 5,000 ล้านบาท จัด “โครงการเฉลิมพระเกียรติแก้ไขหนี้” ตามพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25-100 % รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะเอ็นพีแอล อยู่ก่อนวันที่ 30 ธ.ค.65 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม