หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยจอทุกชนิด โดยเฉพาะ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจส่งผลให้พัฒนาการช้า และอาจมีปัญหาสายตาผิดปกติในอนาคต

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 04:10 น.


พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยจอทุกชนิด โดยเฉพาะ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจส่งผลให้พัฒนาการช้า และอาจมีปัญหาสายตาผิดปกติในอนาคต

(19 ต.ค.66) ทุกวันนี้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในชีวิตประจำวันต่อทุกคนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะมีบทบาทกับตัวผู้ใหญ่เองหรือเด็กๆ ก็ตาม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะส่งผลต่อเด็กทั้งในทางที่ดีและไม่ดี และหากเสพสิ่งเหล่านี้มากเกินไปและไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กด้วยนั่นเองครับ สื่ออิเล็กทรอนิกส์มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ วิดีโอเกม และอื่นๆอีกมากมาย อาจเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตมาสำหรับผู้ใหญ่ หรือผลิตมาสำหรับเด็กโดยตรงก็ตาม รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน

เคยมีการศึกษาวิจัยในประเทศไทยพบว่า ผู้ใหญ่มักจะให้เด็กดูโทรทัศน์ตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้เวลาในการดูโทรทัศน์นานด้วย นอกจากนั้นยังมักปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ตามลำพังอีกด้วย พ่อแม่บางคนยังมีความเชื่อว่าการดูโทรทัศน์น่าจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีและเร็วขึ้นด้วยซ้ำ

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนตุลาคม องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) กำหนดให้เป็นวันสายตาโลก (World Sight Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เพื่อต้องการกระตุ้นให้ประชากรทั่วโลก เกิดการตื่นตัวกับการรณรงค์ป้องกันและฟื้นฟู การตาบอด การมองเห็นเลือนลาง รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ทางสายตา กรมอนามัยจึงมีความห่วงใยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองมักปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อเทคโนโลยี เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือให้ดูโทรทัศน์ทั้งวัน เพื่อไม่ให้ลูกดื้อ ซน ร้องไห้ ซึ่งจะส่งผลเสียตามมาโดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการช้า ปัญหาด้านการสื่อสาร รวมทั้ง ปัญหาด้านสายตาในอนาคต

แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี ตั้งแต่ปี 2559 โดยกรมอนามัย กรมการแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ได้รับการตรวจคัดกรองสายตาโดยครูประจำชั้น และยืนยันโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากสงสัยสายตาผิดปกติส่งต่อโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ตรวจวินิจฉัยและได้รับแว่นตา ซึ่งข้อมูลการตรวจคัดกรองสายตาในปี 2559 พบเด็กไทยมีสายตาผิดปกติ 11,000 คน ปี 2560 พบเด็กไทยมีสายตาผิดปกติ 8,687 คน และในปี 2561 สายตาผิดปกติ 9,976 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายตาสั้น และสายตาเอียง

“ทั้งนี้ เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้ เนื่องจากสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุดซึ่งมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยไม่กำหนดเวลาดูหรือเลือกสื่อ ที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเสียหลายด้าน 1) ด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ การจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง  ด้านร่างกาย จะไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ขาดการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็นหรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้ 3) ด้านอารมณ์  ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิ ไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด และ 4) ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง กรมอนามัยจึงแนะนำให้จำกัดเวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้หลีกเลี่ยงการใช้สื่อมีจอทุกชนิด (ยกเว้นวิดีโอแชท) ส่วนเด็กอายุ 2-5 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้จอ ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรเลือกโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับวัย พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กควรหลีกเลี่ยง การใช้สื่อมีจอเพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ และหันมาใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็ก ๆ เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน พาลูกเล่น เรียนรู้ และโอบกอดแสดงความรักระหว่างกันในครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้พัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กดีขึ้น” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 

ข้อแนะนำเกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม
1. พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ห้ามเด็กดูจอ ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ให้จำกัดระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

2. พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก สื่อที่มีเนื้อหารุนแรง ก้าวร้าว หรือเกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น

3. พ่อแม่ควรเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และสร้างมาเฉพาะเด็กโดยตรง รวมทั้งดูสื่อเหล่านั้นไปพร้อมกับเด็ก คอยอธิบาย ให้คำปรึกษา แนะนำกับเด็กไปพร้อมๆ กับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น

4. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม มีการจำกัดเวลา กำหนดสถานที่ เป็นต้น

5. พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการที่พ่อแม่ติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนส่งผลให้ความสนใจที่มีต่อลูกลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น หากพ่อแม่กำลังทำงานอยู่ไม่สามารถเล่นกับเด็กได้ ควรหากิจกรรมหรือของเล่นให้เด็กเล่นโดยไม่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ลูกเล่นอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พ่อแม่ทำงานเพื่อความปลอดภัยของลูก

6. ควรจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม เช่น ในห้องนอนลูก ไม่ควรมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเข้าถึงสื่อเหล่านั้น

อย่าลืมว่ากิจกรรมการเล่นที่เหมาะสมตามวัยโดยปราศจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี พฤติกรรมที่เหมาะสม สุขภาพที่แข็งแรง และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคุณพ่อคุณแม่นะครับ

ข้อมูล: กรมอนามัย

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม