วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เวลา 13:48 น.
วันที่ 15 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมรับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 90 คน ณ โรงแรมเอสซี ปาร์ค ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้มารับแรงงานไทย จำนวน 90 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานชุดที่ 3 ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับสถานทูตฯ และได้เดินทางกลับจากอิสราเอลโดยสายการบิน Fly Dubai มาถึงสนามบินอู่ตะเภา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนที่จะมาพบญาติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์พร้อมประสานญาติอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนา
“กระทรวงแรงงานเชื่อมั่นว่า พวกเราจะสามารถพาแรงงานไทยที่เหลือทั้งหมดกลับมาได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี มีเพื่อนๆพี่น้องแรงงานไทยบางส่วนแจ้งความจำนงว่า ขออยู่ทำงานที่อิสราเอลต่อ ในส่วนนี้หากเกิดภาวะวิกฤตจริงๆ คงต้องพากลับมาทั้งหมด ส่วนการกลับไปทำงานใหม่อีกครั้งนึง กระทรวงแรงงานได้แจ้งท่านนายกไปแล้วว่า ในส่วนผู้ที่ยังไม่หมดสัญญากระทรวงแรงงาน จะพยายามติดต่องานให้ จึงขอให้สบายใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่ประสานงานให้และเมื่อเหตุการณ์สงบจะพาทุกท่านกลับไปทำงาน หากมีความประสงค์ที่จะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง หรือท่านที่ไม่ประสงค์กลับไป สามารถแจ้งความประสงค์มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่นๆ หรือหากมีความประสงค์จะทำงานในประเทศไทย เราก็พร้อมหางานให้ โดยขอให้แจ้งมาที่กรมการจัดหางาน และขอให้ทุกท่านเก็บตั๋วเดินทางในวันนี้ไว้เพื่อเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลจะดูแลรับผิดชอบในการเดินทางกลับมายังประเทศไทย และขอให้ทุกท่านช่วยสื่อสารไปยังเพื่อนๆแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลที่ยังไม่ได้เดินทางกลับมา ว่าสามารถแจ้งมายังกระทรวงแรงงานได้” นายพิพัฒน์ฯ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ทางกระทรวงแรงงานมีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทันที รายละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสงเคราะห์ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างจากเหตุสงคราม หรือ กรณีทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ คนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับสวัสดิการตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/ พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิตภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน /บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)
ส่วนความคืบหน้าของสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ล่าสุดได้รับรายงานว่า มีแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิต จำนวน 28 ราย (รอยืนยัน) บาดเจ็บ 16 ราย (ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์การเดินทางกับทางสถานทูตฯ จำนวน 7,540 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 7,446 ราย และ แจ้งความประสงค์ไม่ขอกลับ จำนวน 94 ราย และขณะนี้ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 187 ราย
โดยบรรยากาศภายใน โรงแรมเอสซี ปาร์ค นั้น แรงงานไทย จำนวน 90 คน ได้ร่วมพบปะกับญาติที่มารอต้อนรับ อย่างอบอุ่น
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน