หน้าแรก > อาชญากรรม

บก.ปอศ. แจ้งเตือนประชาชนไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอันตราย Nicshare และ ComonApp

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 เวลา 22:57 น.


บก.ปอศ. แจ้งเตือนประชาชนไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอันตราย Nicshare และ ComonApp

รัก โลภ โกรธ หลง” อคติ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้พุทธศาสนิกชนเห็นถึงโทษของความเป็นทุกข์อันเกิดจากการไม่รู้แจ้งเห็นจริงตามสิ่งที่ปรากฏ ธรรมข้อนี้สอนใจอะไรเราบ้างในฐานะคนที่คิดจะเริ่มต้นลงทุน?

1. “รัก” พร้อมที่จะเชื่อและทำตามคนที่เข้ามาทำดีกับตัวเอง โดยไม่ทันใช้สติยั้งคิดดี ๆ ว่าเขาเข้ามาหาตนเพื่ออะไร

2. “โลภ” คล้อยตามในสิ่งที่เขาบอกให้ตนเชื่อ ความอยากได้อยากมีจึงเกิดขึ้น

3. “โกรธ” เมื่อมีแล้ว ก็อยากมีมากยิ่งขึ้นไปอีก จนสุดท้าย

4. “หลง” กว่าจะรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อก็ตกอยู่ในกับดักเรียบร้อยแล้ว

ธรรมไม่จำกัดกาลข้อนี้ กำลังบอกเราว่าอาชญากรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มาช้านาน โดยอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่ยังคงความทันสมัย มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการหลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อจนสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอยู่เสมอ อาชญากรรมนั้นคือ “การฉ้อโกง”  

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่มีใครระบุได้อย่างแน่ชัดว่าการฉ้อโกงครั้งแรกระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไหร่ แต่ถ้าดูจากพัฒนาการของการฉ้อโกงในยุคร่วมสมัยแล้ว เชื่อว่าคงได้ยินเรื่องราวของแก๊งสแกมเมอร์ (scammer) ที่คอยต้มตุ๋น หลอกลวงผู้คนผ่านโลกออนไลน์จากทางแอฟริกา ซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งตลอดสิบกว่าปีมานี้ หากนับตั้งแต่เวลาที่คนไทยเริ่มมีวิถีชีวิตและนิยมสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น การหลอกลวง ฉ้อโกงเหยื่อจากแก๊งสแกมเมอร์เหล่านี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็น “ยุคแรก” ของการฉ้อโกงทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายหลักเป็นสาวไทยที่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีรวมถึงการพบรักกับชาวต่างชาติ ซึ่งสแกมเมอร์เหล่านี้ก็จะใช้โปรไฟล์ปลอมของตัวเองตั้งแต่รูปที่แสดงไปจนถึงข้อมูลที่ปรากฏ เพื่อให้เหยื่อเข้าใจว่ากำลังพูดคุยกับหนุ่มหน้าตาดี มีฐานะ เป็นชาวต่างชาติที่มาจากประเทศแถบตะวันตก จนสุดท้ายเมื่อเหยื่อเริ่มติดใจแล้วก็จะเริ่มนำสารพัดวิธีการมาหลอกลวงเพื่อให้เหยื่อทำการโอนเงิน เช่น อ้างว่าใช้ในการสมัครวีซ่า (VISA) เพื่อใช้สำหรับการเดินทางมาพบกัน ก่อนจะรีบปิดบัญชีหนีไปเมื่อได้รับเงินโอนจากเหยื่อแล้ว ลักษณะการฉ้อโกงแบบนี้ในปัจจุบันยังคงมีอยู่และพบเห็นเป็นจำนวนมาก เรียกว่า “โรแมนซ์ สแกม (Romance Scam)” หรือ “หลอกให้รักแล้วโอนเงิน” จนกว่าเหยื่อจะตายใจ

ต่อมา การกระทำความผิดในลักษณะของการฉ้อโกงก็ได้มีการพัฒนาความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นรูปแบบของการผสมผสานระหว่างการใช้การหลอกให้รักหรือ Romance Scam ควบคู่ไปกับการเสนอผลประโยชน์ด้านการลงทุนที่กำลังเป็นกระแสสังคมในแต่ละยุค ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น หรือการซื้อขายเหรียญดิจิทัล (คริปโต) เรียกว่า “หลอกให้รักแล้วลงทุน”  (Hybrid Scam, Investment Scam)

ปัจจุบัน การฉ้อโกงเปลี่ยนจากการกระทำโดยคนคนเดียวหรือกลุ่มคนมาเป็นลักษณะการทำเป็นขบวนการ มีการจัดตั้งองค์กรอาชญากรรม (Organized crime) เน้นเข้าถึงตัวเหยื่อผ่านคอลเซ็นเตอร์ (Call Center), แอพพลิเคชั่นหาคู่, ข้อความมัลแวร์ (Malware SMS) จูงใจให้เหยื่อเชื่อว่าตนได้รับเงินหรือรางวัล ต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่เอะใจ เหยื่อก็อาจเผลอไปคลิกหรือบอกข้อมูลส่วนตัวให้ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ได้รับทราบ           ซึ่งจะนำมาสู่การฉ้อโกงที่น่าสะพรึงกลัวกว่าเดิม เรียกว่า “กลโกงเชือดหมู (Pig Butchering Scam)”

การจะเชือดหมูให้ได้เนื้อรับประทานมากที่สุด ผู้เชือดจะต้องหาหมูมาเลี้ยง (Package) ก่อนจะให้อาหารเพื่อขุนให้อ้วน (Raise) จนเมื่อได้เนื้อเต็มที่ตามที่พอใจแล้วจึงเริ่มลงมือฆ่า (Kill) เอาเนื้อของหมูตัวดังกล่าวมากิน ทฤษฎีดังกล่าวเป็นที่โด่งดังมากทั้งในประเทศตะวันตก เอเชีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยปัจจุบันมิจฉาชีพเริ่มทำการศึกษาข้อมูล ประวัติส่วนตัวของเหยื่อที่ต้องการจะเชือดมากขึ้น โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ (lifestyle) รสนิยมการใช้ชีวิตของเหยื่อ ซึ่งจะเป็นตัวบอกให้ผู้กระทำความผิดรู้ว่าเหยื่อรายนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ประมาณเท่าไหร่ เป็นการ “ล็อกเป้า” หรือกำหนดเป้าหมายเพื่อทำการจู่โจมผ่านการพูดคุย ไม่ว่าจะหลอกให้รักหรือหลอกให้ลงทุนจนเหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินเป็นจำนวนมาก เมื่อเหยื่อได้ทำการโอนเงินจนไม่มีทรัพย์สินเหลือเพียงพอต่อความต้องการของมิจฉาชีพแล้ว คนเหล่านี้ก็จะทำการ ปิดบัญชีแล้วเชิดเงินของเหยื่อไปจนหมด

ในรูปแบบขบวนการ หลัง ๆ มานี้มีการตั้งชื่อบัญชีรับโอนเป็นบริษัทเพื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งก็จะไปเข้าลักษณะเป็น “บัญชีม้า (Mule)” ที่ผู้กระทำความผิดซึ่งอยู่ในต่างประเทศ หานอมินีที่เป็นคนไทยรับเปิดบัญชีขึ้นมาเพื่อเอาเงินเหยื่อส่งต่อให้ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นชาวต่างชาติต่อไป จากการฉ้อโกงเล็ก ๆ ระหว่างคนสองคนจึงเลยเถิดค่อย ๆ ขยับเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จากเงินไม่กี่บาทที่สูญเสียไปสู่มูลค่ากว่าหลายพันล้านเทียบเท่ากับความเสียหายของบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทหนึ่งเลยทีเดียว

ในท้ายที่สุดนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการฉ้อโกง ซึ่งเป็นภัยสังคมยุคใหม่ในโลกของการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน โดยขอแจ้งเตือนประชาชนทุกคนไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ได้รับการระบุว่าเป็นแอปพลิเคชันอันตราย มีความเสี่ยงที่จะนำมาสู่การหลอกให้ลงทุน ได้แก่ Nicshare และ ComonApp ซึ่งปัจจุบันยังคงมีให้ดาวน์โหลดทั้งในระบบ iOS และ Android กรุณาลบแอปพลิเคชันดังกล่าวในโทรศัพท์ของท่าน และตรวจสอบข้อมูลด้านการลงทุนทุกครั้งจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

- Application “SEC Check First” มีติดตัวไว้ไม่มีถูกหลอก ดาวน์โหลดได้เลย ทั้งจาก App store และ Google Play

- ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. ที่ลิงก์ https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search/

- สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากระบบ Investor Alert ได้ที่ลิงก์นี้ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert

และหากมีเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมาย สามารถแจ้งมาได้โดยตรงที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง Website : https://cib.go.th/ หรือ Facebook ตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง.ผกก.3 บก.ปอศ. โทร 081-429-2062

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม