หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก ไทยพบสถิติผู้ป่วยจิตเวชเพิ่ม 2 เท่าในรอบ 6 ปี

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 เวลา 11:33 น.


นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day: WMHDay) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ

สำหรับแนวคิดของประเทศไทยในการจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก 2023 กำหนดขึ้นภายใต้ธีม "Mental Health Anywhere เพื่อนแท้มีทุกที่” เพราะเมื่อทุกคนมีสิทธิก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งต่อและสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับการดูแล รวมถึงการร่วมมือเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจ

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกลไกการช่วยเหลือและบริการที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด แนวคิดที่จะขยายการบริการการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้รับบริการอย่างทั่วถึง

โดยมีประกาศเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข Quick win 100 วันแรก ประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ

1. มีแผนการจัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างครบวงจรทุกจังหวัด

2.มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ครอบคลุมทุกจังหวัด

3.มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน ครบทุกอำเภอต่อไป  

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน  

รวมถึงข้อมูลจากคลินิกจิตเวชและยาเสพติด พบว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจำนวน 22,481 ราย ส่วนใหญ่จากอาการโรคจิต ซึมเศร้า วิตกกังวล ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับส่งต่อ 292 ราย เป็นผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน 24 ราย ให้การดูแลผู้ป่วยในเฉลี่ย 18 ราย/วัน

ส่วนงานบำบัดยาเสพติด มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 253 ราย สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สุรา ยาบ้า และกัญชาและจากรายงานการศึกษาของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ร่วมกันศึกษา วิจัย และคาดหมายว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุข (Burden of Disease) ระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม