หน้าแรก > สังคม

กรมชลฯ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 15:29 น.


วันนี้ (5ต.ค.66) ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเลอบุญ อุดมทรัพย์  ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยมี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นประธานการประชุม

ปัจจุบัน (5ต.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 29,122 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 7,299 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน  2566 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมทั้งประเทศประมาณ 26,420 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 56 เปอร์เซนต์ ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (2565) ประมาณ 9,442 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 3 มาตรการ (เพิ่มเติม) เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก 2. ควบคุมการเพาะปลูก 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ บูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในการวางแผนจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ร่วมใจกันประหยัดน้ำ  รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ อาทิ แก้มลิง บ่อน้ำ ตลอดจนอาคารชลประทาน เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไปให้ได้มากที่สุด

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม