หน้าแรก > สังคม > ข่าวที่น่าสนใจ

สภากาชาดไทย เผย เครื่องกระตุกหัวใจ AED ถูกขโมยไป 27 เครื่องเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท

วันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 13:37 น.


สภากาชาดไทย เผย เครื่องกระตุกหัวใจ AED ถูกขโมยไป 27 เครื่องเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท เบื้องต้นประสานตำรวจนครบาลตรวจสอบ  ระบุไม่สามารถล็อกตู้ได้เพราะเน้นการนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยเร็วที่สุด

จากกรณีสื่อโซเชียล ได้ร่วมกันประณามและเตือนภัย หลังมีมือดีมาขโมยเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AED) ที่ติดอยู่ตามป้อมจราจร และสถานที่สาธารณะต่างๆ ไปขายต่อในโซเชียล เบื้องต้นพบหายไปแล้ว 27 เครื่อง

ล่าสุด...นายแพทย์ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่าเครื่องกระตุกหัวใจ หรือ AED ได้ติดตั้งทุกจังหวัดกว่า 1,000 เครื่อง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตั้งเครื่อง AED ทั่วกรุงเทพฯ กว่า 250 เครื่อง หน้าสถานีตำรวจ 88 แห่ง ป้อมตำรวจ และตามแยกต่างๆ ไว้ช่วยเหลือผู้ป่วยหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

เครื่อง AED ที่ติดตั้งทุกจุด ราคาเครื่องละเกือบ 70,000 บาท อยู่ในพื้นที่สาธารณะ มองเห็นได้ง่าย ตอนนี้หายไปกว่า 20 จุด ซึ่งพบว่ามีการประกาศขายในเฟซบุ๊ก และตามหลักการแล้วเครื่อง AED สามารถเปิดตู้แล้วนำไปใช้งานได้เลยเพราะต้องเร่งช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยให้เร็วที่สุด โดยไม่มีการล็อกตู้ และไม่ได้ติดตั้งไว้ในสำนักงานหรือพื้นที่ปิด


รวมถึงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 สภากาชาดไทยก็ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการนำเครื่องกระตุกหัวใจไปติดตั้งไว้ตามป้อมตำรวจ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร รวม 262 เครื่อง เพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยกู้ชีวิตประชาชนที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งได้ทยอยติดตั้งไปแล้ว 255 เครื่อง แต่กลับเพิ่งทราบจากข่าว ว่า มีเครื่องกระตุกหัวใจบางส่วนถูกขโมยหายไปจำนวน 27 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 69,000 บาท รวมความเสียหายกว่า 1,863,000 บาท เบื้องต้นจึงได้ประสานไปยังตำรวจนครบาลให้ตรวจสอบแล้ว เพราะถือเป็นผู้รับผิดชอบเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจหลังได้รับมอบแล้ว


ส่วนสภากาชาดไทย จะดูแลเครื่องผ่านแอปพลิเคชั่น "AED กระตุกหัวใจ" ซึ่งจะแสดงจุดติดตั้งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ และไว้ติดตามสถานะการใช้งานของเครื่อง รวมถึงเพื่อการซ่อมบำรุง ซึ่งพบว่า บางจุดที่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหายไป ขึ้นสถานะว่า "กำลังซ่อม"

ทั้งนี้ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ถือว่ามีความสำคัญในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นฉับพลันเป็นอย่างมาก จึงไม่สามารถเก็บไว้ในห้อง ออฟฟิศ หรือมีกุญแจล็อกได้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงหรือหยิบออกมาใช้งานในยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ลำบาก

โดยหากสามารถใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ และทำ CPR ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ทันภายใน 2 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากกว่าการรอรถพยาบาล หรือนำตัวผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลอย่างมาก ซึ่งคู่มือและป้ายสัญลักษณ์บอกวิธีการใช้งานของเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจะเป็นภาษาไทย รวมถึงมีระบบเสียงพูดเป็นภาษาไทยด้วย ทำให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่าย ขณะเดียวกันประชาชนสามารถโทรศัพท์ ติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อให้คำแนะนำควบคู่ระหว่างการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวคนร้ายที่ขโมยเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ไปโพสต์ขายต่อในโซเชียลมีเดียได้แล้ว เบื้องต้นยอมรับว่า ขโมยมาแล้ว 6 เครื่อง และอ้างว่า กำลังจะนำไปคืน.
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม