หน้าแรก > สังคม

นิด้าโพล เผยผลสำรวจพบคนไทย อยากมีลูก และส่วนมากไม่กังวลต่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตว่าจะมีน้อย

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 10:48 น.


เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-40 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการมีลูกในปัจจุบัน การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย(Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงสถานะการแต่งงานและการมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.39 ระบุว่า เป็นโสดและไม่มีแฟน รองลงมา ร้อยละ 26.57 ระบุว่า แต่งงานจดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ร้อยละ 20.92 ระบุว่า เป็นโสดแต่มีแฟนแล้ว ร้อยละ 10.99 ระบุว่า แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีลูกแล้ว ร้อยละ 4.58 ระบุว่า แต่งงานจดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก ร้อยละ 2.52 ระบุว่า เป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว(หม้ายที่มีลูกแล้ว โสดและมีลูกแล้ว) ร้อยละ 1.98 ระบุว่า แต่งงานไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่ไม่มีลูก และมีคู่ครอง(อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) และมีลูกแล้ว ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 1.07 ระบุว่า มีคู่ครอง (อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงาน) แต่ไม่มีลูก

เมื่อสอบถามผู้ที่ยังไม่มีลูก (จำนวน 759 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการอยากมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.89 ระบุว่า อยากมี รองลงมา ร้อยละ 44.00 ระบุว่า ไม่อยากมี และร้อยละ 2.11 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ เมื่อสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูก (จำนวน 334 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกและเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่

ส่วนความกังวลต่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในอนาคตว่าจะมีน้อยมาก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.53 ระบุว่า ไม่กังวลเลย รองลงมา ร้อยละ 23.13 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 17.79 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล และร้อยละ 8.55 ระบุว่า กังวลมาก ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก รองลงมา ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี ร้อยละ 30.00 ระบุว่าลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย ร้อยละ 2.75 ระบุว่ารัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.09 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 16.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 15.19 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 8.09 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 50.46 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.54 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 29.54 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 24.35 อายุ 26-30 ปี ร้อยละ 22.52 อายุ 31-35 ปี และร้อยละ 23.59 อายุ 36-40 ปี

ตัวอย่าง ร้อยละ 95.04 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.12 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 67.25 สถานภาพโสด ร้อยละ 31.15 สมรส และร้อยละ 1.60 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่

ตัวอย่าง ร้อยละ 3.59 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 45.80 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 36.79 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.82 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า


ตัวอย่าง ร้อยละ 11.83 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 31.53 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.15 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 5.80 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.21 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 6.33 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ว่างงาน และร้อยละ 11.15 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 17.41 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 13.89 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 41.68 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.43 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 3.36 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.85 ไม่ระบุรายได้

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม