วันที่ 18 กันยายน 2566 เวลา 15:56 น.
วันนี้ (18 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประเด็นการตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายเศรษฐา ระบุว่ากรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่ใหญ่ มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ประชาชนคาดหวังเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ปัญหาฝุ่น ปัญหารถติด และการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ได้รู้จักกันกับนายชัชชาติมานาน เราคุยกันตั้งแต่ก่อนสภานการณ์โควิด-19 นายชัชชาติมาหาตนเองที่ทำงานเก่า เคยพูดคุยกันบอกให้นายชัชชาติสมัครเป็นนายกฯ ไม่ต้องเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรอก แต่นายชัชชาติขอสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้ตนเองมาลงสมัครนายกรัฐมนตรี จะได้ทำงานร่วมกันแบบพี่น้อง ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสแบบนี้ บุคคลสำคัญที่นึกถึงเป็นคนแรกคือ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ได้ฉันทามติท่วมท้น 1.8 ล้านคะแนน เป็นคะแนนที่สูงมากในประวัติศาสตร์
"เป็นภารกิจแรกที่ผมอยากทำ ผมอยากสนับสนุนให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำงานลุล่วงไปด้วยดี กรุงเทพมหานครเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ"
นายเศรษฐา เปิดเผยถึงเหตุผลที่ได้เชิญนายชัชชาติมาพูดคุยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับประทานอาหารกลางวันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ ซึ่งมีดำริว่าจะตั้งคณะกรรมการชุดเล็ก 6-7 คนเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครโดยใช้นโยบายเป็นหลัก หน้าที่รัฐบาลคือการสนับสนุนนายชัชชาติให้แก้ไขปัญหา อะไรที่ทำได้ก็ทำไปก่อนโดยใช้งบประมาณน้อยหรือไม่ใช้เลย โดยเน้นไปที่เรื่องการประสานงานในหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ปัญหาต่าง ๆ สามารถบรรเทาได้ด้วยการจัดสรรงานที่ดี หน้าที่เราคือสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่
นายชัชชาติ กล่าวว่าทำงานมา 1 ปี ปัญหาใหญ่คือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีอำนาจจำกัด ถ้าเรามีการประสานงานที่เข้มข้นและมีทิศทางชัดเจน ปัญหาจะบรรเทาได้เยอะ เราคุยกันว่าจะตั้งคณะทำงานที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพธนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เป็นกลุ่มทำงานที่ไม่เน้นเมกะโปรเจกต์ ไม่เน้นการลงทุน แต่ผลักดันในสิ่งที่ติดขัด คณะทำงานต้องไม่เกินพิซซ่า 2 ถาด เพราะถ้าเยอะก็จะไม่จบ นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย
นายชัชชาติ ยกตัวอย่างความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้น เช่น การจราจร กทม.รับผิดชอบเพียงส่วนหนึ่ง แต่การก่อสร้างในกรุงเทพฯ มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ การเชื่อมโยงรถไฟฟ้า ทางเท้า รถไฟฟ้า รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ เรื่องเศรษฐกิจผลักดันสร้าง Soft Power 50 เขต 50 ย่านส่วนที่อยู่อาศัย หากภาครัฐจัดสรรพื้นที่หน่วยราชการ พื้นที่ใต้ทางด่วนให้ประชาชนทำมาหากินได้โดยไม่เสียเงินเพิ่มก็จะบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจได้ ปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จะต้องร่วมมือกับตำรวจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การผลักดันให้เกิด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาว ซึ่งต้องเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ในปฏิทินโลก การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควบคุมการเผาชีวมวล ปัญหาสายสื่อสารที่รกรุงรัง ซึ่งเกี่ยวกับการไฟฟ้านครหลวง กสทช. และ NT เราทำได้เพียงแค่ขอความร่วมมือแต่หากมีนโยบายชัดเจน มีคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาเร่งด่วนได้รวดเร็ว
นายเศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หน้าที่ของเราคือสนับสนุนน้องชายที่ดูแลภาคส่วนใหญ่ "กรุงเทพมหานคร" ตนเองจะช่วยสั่งการในหน่วยงานที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจโดยตรง
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน