หน้าแรก > สังคม

กทม.เตรียมตั้ง "ศูนย์ภัยแล้ง" ป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา 21:11 น.


(15 ก.ย 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการพื้นที่ภัยแล้งในกรุงเทพมหานคร โดยมี นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากสำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าวและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

ด้วยระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงฤดูแล้ง มีสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งปัญหาน้ำทะเลหนุนสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนการเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ ประกอบกับขณะนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีหน้าที่และภารกิจที่จะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ ดังนั้น เพื่อให้การเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กทม. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงจัดประชุมเพื่อเตรียมการแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร  จึงต้องมีการเตรียมการสำหรับภัยแล้งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้พื้นที่กักเก็บน้ำ ที่เป็นการดำเนินการนำร่องในบางพื้นที่เขต บางพื้นที่เขตเป็นการทำประมง ซึ่งยากต่อการบริหารจัดการเนื่องจากเมื่อปริมาณน้ำลดลงมากจะส่งผลกระทบอย่างไรและวิธีการจัดการในเชิงรุกจะดำเนินแบบไหน อีกทั้งยังมีพื้นที่การเกษตรฝั่งตะวันออกของกทม. ที่จะได้รับผลกระทบอีกหลายหมื่นไร่  ฉะนั้นในการจะทราบข้อมูลเรื่องระดับน้ำ ค่าความเค็มของน้ำ การผันน้ำ และอื่นๆ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน

ด้านที่ปรึกษาฯ มีข้อสังเกตใน 3 ประเด็นคือ เรื่องการกำหนดค่าระดับความเค็มร่วมกัน เนื่องจากส่งผลต่อผลผลิตแต่ละประเภทแตกต่างกัน เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือกล้วยไม้ ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งต้องหารือกับกรมชลประทานในการกำหนดค่าระดับความเค็มให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  ต่อมาคือเรื่องผันน้ำเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันค่าเฉลี่ยระดับฝนในปีนี้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเกิดความกังวลว่าน้ำในพื้นที่จะเกิดความขาดแคลน  และในเรื่องน้ำหนุน คือช่วงเดือนธันวาคมจนถึงมีนาคมจะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุด จึงกังวลเรื่องค่าความเค็มของน้ำ เพราะน้ำที่มาจากทางเหนือมีปริมาณน้อยกว่าทุกปี ทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำและคลองสายหลักในพื้นที่ กทม. มีค่าค่อนข้างสูง

ด้านผู้แทนกรมชลประทานได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ด้วยปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติ โดยปริมาณน้ำฝนของกทม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35% ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมชลฯ ที่ดูจากปีก่อนที่มีความแล้งใกล้เคียงกับปี 2562 ปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นปริมาณน้ำที่เป็นต้นทุนของน้ำที่ใช้ในกทม. ด้วย อยู่ที่ 5,516 ลบ.ม. ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 10,000 กว่า ลบ.ม. ทำให้เห็นว่าน้อยลงอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเพาะปลูก โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำเยอะ คือ ข้าว จึงขอให้ปรับลดในการเพาะปลูก ขณะนี้กรมชลฯ กำลังดำเนินการเตรียมทำแผนพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566-2567 นอกจากนี้กรมชลฯ ยังได้รายงานสถานการณ์การระบายน้ำ การเพาะปลูก การรักษาค่าความเค็มของน้ำ

ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำและกรมชลประทาน เตรียมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อลงรายละเอียดการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ และการป้องกันน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุน และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตรียมกำหนดแนวทางยับยั้งและช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการและงบประมาณสนับสนุน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตรงกับกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กทม. ที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม