หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

กรมอนามัย ร่วมมือ ภาคีเครือข่าย ยกระดับสาธารณสุขไทย หยุดโรคอ้วนในเด็ก

วันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 14:34 น.


วานนี้ (12 กันยายน 2566) ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมอภิปรายเรื่อง National Agenda to Stop Childhood Obesity : วาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก ในมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” (Enhancing Public Health for sustainable well-being for Thais) ร่วมกับ Dr.Olivia Nieveras แพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ นายพนัส บุญวัฒนสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี

ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยเร่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย มุ่งลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อในปี 2030 (เป้าหมาย 3.4) กรมอนามัยชี้ข้อมูลเด็กน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าใน 20 ปี ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกิน คือ 1 ใน 3 ของเด็กดื่มน้ำอัดลม อาหารฟาสฟู๊ดเป็นประจำ และกินผักผลไม้ กินมื้อเช้าลดลง ประกอบกับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น มาตรการสำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มจากเด็กเป็นศูนย์กลาง มีความรู้เข้าใจอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพตนเอง มีครอบครัว ชุมชน ช่วยสนับสนุนเสริม ตลอดจนมีกลไกการขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมจัดการไปด้วยกันไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุข ยังมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

นายแพทย์อัครฐาน กล่าวต่อไปว่า กรมการแพทย์แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเด็กอ้วนที่ระดับรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น พบเด็กอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจอุดกลั้น โรคกระดูกและข้อ ส่งผลถึงการใช้ทรัพยากรในการรักษาสูงขึ้นอย่างมาก การจัดการสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมให้เด็กและครอบครัวมีความรอบรู้สุขภาพเป็นสิ่งที่ยังท้าทายและถือว่าเป็นมาตรการที่คุ้มค่ากว่าการรักษาโรคอ้วนอย่างแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) การดูแล ส่งต่อ ในสถานบริการสาธารณสุขแต่ละระดับ (Service delivery by level of care)

นายพนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนภาคการศึกษามีมาตรการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ รวมถึงการจัดการโรคอ้วนในโรงเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ผ่านหลักสูตรสาระสุขศึกษาและพลศึกษา โครงการนักเรียนไทยสุขภาพดี โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัยสร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ

“ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับโลก เพราะเด็กอ้วนจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง โดยในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (WHA75) 2022 ได้ออกคำแนะนำแผนในการหยุดโรคอ้วน กระตุ้น (WHO acceleration plan to stop obesity) และเป็นแนวทางการจัดการโรคอ้วนให้แต่ละประเทศดำเนินการ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 28 ประเทศแถวหน้า ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างดีและดำเนินการนำหน้าหลายๆประเทศ ซึ่งมีการดำเนินมาตรการที่มีหลักฐานว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ภาษีน้ำตาล โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ นโยบายการดูแลส่งเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพและโภชนาการในโรงเรียน และ (ร่าง) พ.ร.บ. การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพเด็ก” Dr.Olivia Nieveras แพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว  

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม