วันที่ 2 กันยายน 2566 เวลา 12:14 น.
ภาวะโลกเดือด! อินเดียร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูล เมื่อ 122 ปีที่แล้ว ด้านญี่ปุ่นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกเมื่อ 125 ปีที่แล้ว
2 กันยายน 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติอินเดีย (ไอเอ็มดี) รายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดของเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 28.4 องศาเซลเซียส เป็นสถิติเดือน ส.ค. ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดของอินเดีย นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูล เมื่อปี 2444
ขณะที่ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนของอินเดีย ตลอดเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 161.7 มิลลิเมตร ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สถิติของเดือน ส.ค. 2548 ซึ่งค่าเฉลี่ยน้ำฝนในเวลานั้นอยู่ที่ 131.6 มิลลิเมตร
แม้สถิติปริมาณน้ำฝนต่ำสุดในรอบ 18 ปี แต่นับตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 65 ราย จากน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม โดยเฉพาะในภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัย
ทั้งนี้ หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียประกาศภาวะคลื่นความร้อน ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เกือบทุกปีในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิในบางพื้นที่สูงเป็นสถิติถึง 50 องศาเซลเซียส
ขณะที่ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงานว่าญี่ปุ่น นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกอุณหภูมิในปี 1898 พบอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มจดบันทึกเมื่อ 125 ปีที่แล้ว โดยอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี 1.76 องศาเซลเซียส ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น อุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศา เมืองอิโตอิกาวะ จังหวัดนีงะตะ มีการบันทึกค่ำคืนที่ร้อนที่สุดของประเทศเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งอุณหภูมิ 31.4 องศา โดยทำสถิติสูงสุดในตอนกลางคืนใน 248 แห่งทั่วประเทศ
ในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าฤดูร้อนในปีนี้ “ผิดปกติ” โดยอ้างถึงอุณหภูมิสูงที่แผ่ปกคลุมทั่วประเทศ โดยอุณหภูมิสูงสุดระหว่างวันที่ 16 ก.ค.-23 ส.ค. ทุบสถิติที่จุดสังเกตการณ์ 106 จุด จาก 915 จุดทั่วญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นเดือนกรกฎาคมที่อบอุ่นที่สุด และเดือนมิถุนายนปีนี้เป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนสุดเป็นอันดับสอง เท่าที่เคยมีบันทึกมา
ทั้งนี้ ระบบความกดอากาศสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิกแผ่ปกคลุมเกาะฮอนชู ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม ก่อให้เกิดอุณหภูมิสูงขึ้น และในเดือนสิงหาคม ไต้ฝุ่นที่เคลื่อนตัวไปทางเหนืออย่างช้าๆ นำมวลอากาศอุ่นมาด้วย ส่วนลมตะวันตกที่พัดในละติจูดที่สูงกว่าปกติและอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อน
ด้านนักวิเคราะห์ญี่ปุ่นระบุว่าการที่อุณหภูมิในฤดูร้อนทำลายสถิติครั้งนี้มีนัยสำคัญมากกว่าแค่ตัวเลขสถิติ โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
23 พฤศจิกายน 2567
23 พฤศจิกายน 2567