หน้าแรก > สังคม

ชป.ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปีต่อเนื่อง ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำจากผลกระทบเอลนีโญ

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 15:18 น.


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (25 ส.ค. 66) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 41,916 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 17,975 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้กำชับโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น 

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร  สามารถใช้ในการวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2566/67 ทั้งประเทศได้ประมาณ 2.21 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 8.22 ล้านไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูแล้งที่มีอยู่อย่างจำกัด ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าปกติ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือข้าวนาปรังได้ โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และแผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมกว่า 2.28 ล้านไร่ เท่านั้น 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม