หน้าแรก > ต่างประเทศ

ญี่ปุ่นเคาะเริ่มปล่อย ‘น้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์’ ลงทะเล 24 ส.ค.

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 16:14 น.


โตเกียว, 22 ส.ค. (ซินหัว) — วันอังคาร (22 ส.ค.) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมติเริ่มการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิลงสู่มหาสมุทรในวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) ในกรณีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศมติซึ่งเป็นที่ถกเถียงหลังจากการประชุมรัฐมนตรีในช่วงเช้าวันอังคาร (22 ส.ค.) แม้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งในและนอกประเทศ

เมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) กลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรมประมงญี่ปุ่น เน้นย้ำการคัดค้านแผนการปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทร ระหว่างการประชุมของคิชิดะกับประธานสหพันธ์สหกรณ์ประมงแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

อนึ่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ตามมาตราแมกนิจูด และคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ส่งผลให้แกนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายและปล่อยรังสีจนเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7 ซึ่งจัดเป็นระดับสูงสุดของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)

รายงานระบุว่าโรงไฟฟ้าฯ ผลิตน้ำจำนวนมหาศาลที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในอาคารเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งปัจจุบันสะสมในถังราว 1,000 ถัง

ในปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่น และบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือ “เทปโก” (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฯ ทำข้อตกลงกับสมาคมสหกรณ์ประมงของจังหวัดฟุกุชิมะและประเทศ ซึ่งระบุว่าจะไม่ดำเนินการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ได้รับความเข้าใจจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันอาทิตย์ (20 ส.ค.) ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดจากสำนักข่าวเคียวโดของญี่ปุ่น เผยว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 88.1 แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรของรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะอัตราคะแนนความไม่นิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของคิชิดะแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม