หน้าแรก > สังคม

การดูแลลูกช้างป่า "ตุลา" พร้อมผลตรวจโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสจากห้องปฏิบัติการ

วันที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 07:28 น.


วันที่ 18 มกราคม 2566 นายไพโรจน์ พรมวัฒ สัตวแพทย์ รายงานผลการดูแลลูกช้างป่า "ตุลา" เข้ามาว่า ลูกช้างมีอาการร่าเริง และแสดงพฤติกรรมได้มากขึ้น การติดตามอาการแผลในช่องปากและลิ้นไม่พบอาการแผลภายในช่องปาก 

สำหรับผลการตรวจ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในลูกช้างทางห้องปฏิบัติการที่ได้ดำเนินการส่งตัวอย่างเลือด ตัวอย่างสวอปในช่องปาก ตัวอย่างสวอปทางทวารหนัก และตัวอย่างแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย ให้กับห้อง ปฏิบัติการทางสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่า ตัวอย่างเลือด ตัวอย่างทางทวารหนัก และตัวอย่างแผลที่ผิวหนัง ให้ผลตรวจ เป็นลบ (Negative) แต่ตัวอย่างสวอปในช่องปากยังคงให้ผลตรวจเป็นบวก (Positive)

ทั้งนี้การให้ยาต้านไวรัสในการรักษาครั้งก่อนได้ดำเนินการป้อนให้ลูกช้างป่ากินครบตามแผนการรักษาเรียบร้อย ในครั้งนี้ลูกช้างยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรงและไม่แสดงอาการทางกายภาพให้เห็นถึงการอ่อนแอจากเชื้อไวรัส สัตวแพทย์จึงยังไม่ดำเนินการให้ยาต้านไวรัส แต่เสริมวิตามินซีให้กินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย

หลังจากนี้สัตวแพทย์จะดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างสวอปในช่องปากของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามการคงอยู่ของเชื้อไวรัสภายในเนื้อเยื่อที่ช่องปาก และดำเนินการลดการเกิดความเครียดให้แก่ลูกช้างป่าเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแสดงอาการเมื่อมีภาวะร่างกายอ่อนแอ

เครดิต ประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม