วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 14:38 น.
21 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ ได้มีมติร่วมกันเสนอชื่อ “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการรวบรวมพรรคต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลดังนี้
-พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง
-พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
-พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
-พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
-พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
-พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง/ รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง
-พรรคอื่นๆอีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง/ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง/ พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง/ พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง/ พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง
พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละพรรคมาตกลงเรื่องการร่วมมือและแบ่งงานกันทำ โดย “ทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น digital wallet , ที่ดินทำกิน, ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ, เพิ่มราคาพืชผลเกษตร, แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ และจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์” ทั้งนี้ พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอกราบเรียนว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ สถานการณ์หนี้สินของครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางได้รับผลกระทบมาแล้วเป็นเวลานาน ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างและกลไกเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตระหนักดีว่าในสถานการณ์ดังกล่าวเราไม่อาจจะทอดเวลาไปมากกว่านี้ หรือจำนนต่อสถานการณ์ขัดแย้งที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ในวงล้อมที่เสียโอกาสไปทุกขณะ
การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่บนฐานความรับผิดชอบต่อประชาชนในสถานการณ์ที่ปัญหาทุกด้านส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องรุนแรง แม้พรรคเพื่อไทยจะเผชิญกับวาทกรรมหรือคำกล่าวหาที่รุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรารับรู้ความขัดแย้งดังกล่าวด้วยใจที่เป็นธรรม และตั้งใจมุ่งสู่เป้าหมายที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้นเป้าหมายหลักในวาระนี้คือการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในวาระประเทศและวาระของประชาชน
พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายด้วยการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างรวดเร็ว เราต้องเร่งทำงานเพื่อฟื้นโครงสร้างเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายพัฒนามาตรการกลไกเพื่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสร้างสรรค์ พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า “ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้วร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย” และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรักสามัคคีปรองดองของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป
จากแถลงการณ์และเจตจำนงดังกล่าวข้างต้น เราจึง “ขอรับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน และทุกพรรคการเมือง มาร่วมกันผลักดันวาระประเทศ เพื่อดำรงความมุ่งหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ และดูแลสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ ร่วมกันลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งในประเทศ ร่วมกันพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งและการกินดีอยู่ดีของประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น”
“มุ่งมั่นทำงาน แก้วิฤตการณ์ประเทศ โดยยึดวาระประชาชน”
21 สิงหาคม 2566
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน