วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 12:23 น.
วันที่ 17 ส.ค.2566 ทนาย รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก กรณีหญิงสาวรายหนึ่งได้โพสต์รูปภาพ ซึ่งเป็นรูปภาพการสนทนาผ่านทางไลน์ กรณีขอลางาน เพื่อไปเยี่ยมแม่ที่ป่วย สุดท้าย แม่เสียชีวิต ขอลางานอีกครั้ง กลับถูกให้ไปเขียนใบลาออก
โดยระบุว่า สำหรับผู้เสียหายเป็นหญิงสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาทำงานที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ที่เขาใหญ่ ซึ่งหญิงสาวรายนี้ได้ส่งข้อความผ่านทางไลน์ ไปรายงานกับไลน์ที่อ้างว่า เป็นฝ่ายบุคคลของโรงแรม ว่า ขอลาหยุด ซึ่งลาวันแรก เพื่อพาแม่ไปฉีดยา ซึ่งฝ่ายบุคคลโรงแรมก็ให้ลาได้ และวันที่ 2 หญิงสาวรายนี้ ได้ส่งข้อความไปแจ้งกับทางฝ่ายบุคคลของโรงแรมว่า “แม่มีอาการแย่”
ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไม่พ้นวันนี้ จึงขอลางานเพิ่มอีกวัน ปรากฏว่าฝ่ายบุคคลของทางโรงแรม ไม่ยอมให้ลา จนกระทั่ง หญิงสาวรายนี้ ส่งข้อความกลับไปบอกอีกครั้ง ว่าแม่เสียชีวิตแล้ว จึงขอลากลับบ้าน ซึ่งก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า โดยระบุบอกว่า จะลาออกใช่หรือไม่ เสร็จธุระแล้วก็ให้กลับมาเขียนใบลาออก ซึ่งทำให้หญิงสาวรายนี้ตั้งคำถามว่า เธอทำอะไรผิด จึงนำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ทางโซเชียล
ทนายรณณรงค์ เผยต่อว่า ขณะที่สังคมมองเรื่องนี้ว่า เหตุใดฝ่ายบุคคลของโรงแรมจึงไม่มีความเมตตา ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์โลกทั่วไป พ่อแม่เจ็บป่วย หรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต ก็ต้องมีสิทธิไปดูแลรักษา ก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งไม่มีใครบ้าทำงาน ปล่อยไม่สนใจคนในครอบครัว ซึ่งฝ่ายบุคคลที่ตอบกลับหญิงรายดังกล่าวมาที่ระบุบอกว่าไม่สามารถลาได้ นั้นหากเจอเหตุการณ์เดียวกัน จะทำอย่างไร
หากมองในแง่กฎหมายตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน สังคมอาจจะเห็นใจลูกจ้าง แต่กติกาได้ระบุไว้ว่า การลากิจ ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี นายจ้างต้องให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ แต่การลากิจ ไม่ได้หมายความว่าส่งข้อความไปแจ้งแล้วจะหยุดได้ทันที ซึ่งคำว่าลา ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติด้วย หากนายจ้างอนุมัติ จึงจะลากิจได้ เพราะการลากิจนั้นได้ค่าจ้าง
แต่การขอลากิจ แล้วไม่ให้ลา แต่ให้ไปลาออกเลย
เรื่องนี้ทนายรณรงค์ เผยว่า ข้อกฎหมาย ระบุไว้ว่า หากลูกจ้างลาไม่ได้ ลูกจ้างหยุดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่ติดต่อนายจ้างเลย ลักษณะนี้นายจ้างมีสิทธิไล่ออก แต่กรณีนี้หากลา 1 วัน พาแม่ไปหาหมอ และแม่เสียชีวิตนั่น เท่ากับว่าขาดงานแค่ 1 วัน การให้เขียนใบลาออก ถือเป็นการบีบบังคับลูกจ้าง แต่หากมองในมุมของนายจ้าง หากนายจ้างเจอแต่ลูกน้องที่ลาบ่อยๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ
ตนเองในฐานะเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากเข้าไปพักโรงแรมหรู ก็อยากจะให้ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป กระจายไปถึงลูกจ้าง แต่หากโรงแรมหรูแห่งนี้ มีฝ่ายบุคคลที่บริหารแบบนั้นจริง ตนเองก็จะเป็นลูกค้าคนนึงที่ไม่ไปใช้บริการ จึงจี้ให้โรงแรมออกมาชี้แจงว่าสาเหตุมันเกิดอะไรขึ้น จะได้เข้าใจในมุมของนายจ้างด้วย