วันที่ 10 สิงหาคม 2566 เวลา 12:46 น.
ตำรวจสอบสวนกลาง รวบแก๊งอ้างตัวเป็น เสธ. หลอกลงทุนในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาฯ มูลค่าระดับพันล้าน
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา 7 รายคือ
1.นายสมชาย หรือ ผู้กองเป็ด อายุ 59 ปี
2.นายสุริยพันธ์ หรือ ผู้กองจอร์ อายุ 61 ปี
3.นายอัครวัฒน์ หรือเสธหนุ่ม อายุ 59 ปี
4.นายนิพนธ์ อายุ 61 ปี
5.นายประสาร หรือเสธแดง อายุ 65 ปี
6.นางสาววราภรณ์ อายุ 58 ปี
7.นายสมศักดิ์ฯ อายุ 51 ปี
โดยแยกจับกุมได้ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยภูมิ, จ.มหาสารคาม, จ.ร้อยเอ็ด, จ.กาฬสินธุ์, จ.เชียงใหม๋, จ.ลำปาง, และ จ.สุพรรณบุรี พร้อมตรวจยึดของกลาง เอกสารโครงการรับเหมาก่อสร้างต่างๆ จำนวน 20 โครงการ เอกสารประมาณ 1,000 แผ่น สมุดบัญชีธนาคารจำนวน 18 เล่ม บัตรเอทีเอ็มจำนวน 3 ใบ โทรศัพท์มือถือ จำนวน 4 เครื่อง
พฤติการณ์ เมื่อต้นปี 2564 กองบังคับการปราบปราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก มูลนิธิชัยพัฒนา กรณีมีกลุ่มบุคคลได้ทำการแอบอ้างมูลนิธิชัยพัฒนา ว่าได้จัดทำโครงการขุดลอกคลอง (โครงการแก้มลิง) ของมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 90 โครงการแล้วนำไปแสวงหาผลประโยชน์ กระทั่งกลุ่มผู้เสียหายทราบว่าโครงการดังกล่าวไม่มีอยู่จริง จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนกับกลุ่มขบวนการดังกล่าว แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา กระทั่งกลุ่มดังกล่าวได้หลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ โดยมีผู้ได้รับความเสียหายกว่า 20 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1.5 ล้านบาท
จากการสืบสวนทราบว่า เมื่อช่วงประมาณ มิ.ย. – ก.ค. 2564 กลุ่มผู้ต้องหา มีการอ้างตนเป็นบริษัทฯ (ของนายกิตติศักดิ์ฯ) รับเหมาก่อสร้าง เป็นตัวแทนจากมูลนิธิชัยฯ ได้เข้ามาชักชวนแนะนำโครงการขุดลอกหนองน้ำ ของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นโครงการที่มาช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยให้มีโอกาสได้รับงาน จากนั้นกลุ่มขบวนการได้แจ้งให้ประชาชน และผู้รับเหมาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สนใจจะรับเหมาโครงการ ให้ไปฟังเงื่อนไขและคุณสมบัติของบริษัทฯ ที่จะสามารถรับเหมางานได้ ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยการหลอกใช้สถานที่ราชการเป็นสถานที่นัดประชุม ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการจัดประชุมจะมีคนที่สนใจเข้าร่วมประชุมประมาณ 50 – 60 คน ที่ผ่านมามีการนัดประชุมมาแล้วประมาณ 4 ครั้ง โดยในเนื้อหาการประชุม กลุ่มผู้ต้องหาจะอ้างว่าในแต่ละโครงการจะมีงบประมาณสนับสนุน เป็นเงินหลัก 100 -1,000 ล้านบาท หากใครสนใจเข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายเงินค่าซื้อแบบโครงการจากกลุ่มผู้ต้องหา เป็นค่าแบบโครงการจะเริ่มต้นที่ราคา 17,500 บาท ไปจนถึง 90,000 บาท ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และงบประมาณของโครงการที่จะได้รับ
กระทั่งกลุ่มผู้เสียหายได้หลงเชื่อจ่ายเงินซื้อแบบโครงการและได้มีการร่วมทำสัญญาว่าจ้าง (MOU) กับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งหลังจากที่ได้มีการโอนเงินค่าแบบโครงการให้กับกลุ่มขบวนการดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการหลอกให้ทำสัญญากิจการร่วมค้า (MOA) กับบริษัทฯ ขายน้ำมันเชื้อเพลิง (ของนายเลิศพงษ์ฯ) ต่ออีกทอดหนึ่ง ภายหลังจากการทำสัญญา MOU และ MOA แล้วปรากฏว่าไม่มีผู้เสียหายรายใดได้รับเหมางานแต่อย่างใด เมื่อทวงถามทางกลุ่มขบวนการดังกล่าวก็ได้เลื่อนนัดและบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ทำให้ผู้เสียหายเชื่อว่าพวกตนถูกหลอกลวง จึงทำการตรวจสอบข้อมูลจากมูลนิธิฯ จนทราบว่าโครงการดังกล่าวไม่มีอยู่จริง จึงมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
จากสวนสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานพบผู้ร่วมกระทำผิดจำนวน 10 ราย มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม นายหน้า/ ผู้ชักชวน
จากการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของกลุ่มผู้ต้องหาพบว่ามีประวัติกระทำความผิดจำนวน 3 ราย คือ นายกิตติศักดิ์ พบมีประวัติทั้งสิ้น จำนวน 4 คดี ,นางสาววราภรณ์ มีประวัติถูกนำเนินคดี จำนวน 2 คดี สถานะถอนประกาศสืบจับ,นายเลิศพงศ์ พบมีประวัติถูกออกหมายจับทั้งสิ้น จำนวน 13 คดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่างหา