หน้าแรก > สังคม

"NARIT" เผย 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดเดือนสิงหาคม 2566

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 17:19 น.


เดือนสิงหาคมปีนี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เกิดขึ้นหลายปรากฏการณ์ NARIT ขอมัดรวมมาให้ที่นี่ทีเดียวเลย !

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) คืนวันที่ 12 - รุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2566 มีอัตราการตกสูงสุด 100 ดวง/ชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอิดส์ สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:00 น. ของวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน แนะนำนอนชมในพื้นที่มืดปราศจากแสงเมือง

ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 12:22 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นโลก หากสังเกตวัตถุกลางแดดจะดูเสมือนไร้เงา เนื่องจากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี และอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดูข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยได้ที่ https://www.narit.or.th/index.../news/2841-sun-thailand-2566 

ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืน 27 สิงหาคม 2566 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเริ่มสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก ปรากฏสุกสว่าง สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สามารถชมได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย 

ซูเปอร์บลูมูน (Super Blue Moon) คืน 30 - รุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566 ชม 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปีนี้มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และ บลูมูน (Blue Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563

NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 และ “ซูเปอร์บลูมูน” ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร. ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สงขลา และฉะเชิงเทรา หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

 


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม