หน้าแรก > สังคม

ผู้ว่าการรถไฟฯ และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เกิดเหตุรถไฟขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ ชนกับรถยนต์กระบะขนคนงานลากปลา

วันที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 13:25 น.


ผู้ว่าการรถไฟฯ และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เกิดเหตุรถไฟขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ ชนกับรถยนต์กระบะขนคนงานลากปลา วิ่งฝ่าสัญญาณเตือน บริเวณที่หยุดรถคลองอุดมชลจร จังหวัดฉะเชิงเทรา

4 สิงหาคม 2566 จากกรณีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ 833 ดีเซลเลขที่ 5240 มีต้นทางจากไอซีดี ลาดกระบัง ปลายทางแหลมฉบัง ชนกับรถยนต์กระบะขนคนงานลากปลา ยี่ห้อ อีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน 1 ฒฆ 5942 กรุงเทพมหานคร บริเวณทางลักผ่านที่ไม่ได้รับอนุญาต หลักกิโลเมตรที่ 43/9 ใกล้กับที่หยุดรถคลองอุดมชลจร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

หลังเกิดเหตุ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้กองพนักงานสัมพันธ์และสวัสดิการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ติดต่อให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมตามระเบียบของการรถไฟฯ กับครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตต่อไป ซึ่งการรถไฟฯ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บมา ณ โอกาสนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางดังกล่าวจะเป็นทางลักผ่าน แต่เพื่อพยายามที่จะลดอุบัติเหตุให้มากที่สุด การรถไฟฯ จึงได้ดำเนินการติดตั้งสัญญาณเตือน ป้ายจราจร ไฟกะพริบป้ายข้อความเตือนทั้งสองด้านมีเครื่องหมายจราจรครบถ้วน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านจุดดังกล่าว

ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนใกล้เคียง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้คำนึงถึงความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎจราจรก่อนข้ามทางผ่านเสมอระดับ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับป้ายสัญลักษณ์เตือน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ในส่วนมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปจำนวนทางลักผ่านที่ผิดกฎหมายเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาปิดจุดทางลักผ่านต่างๆ หรือประสานหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมา หากการรถไฟฯ เข้าไปดำเนินการปิดทางลักผ่านต่างๆ ก็จะได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ขอให้เปิดเส้นทางลักผ่านเพื่อใช้ในการสัญจร หรือลักลอบเปิดใช้ทางลักผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟฯ แต่อย่างใด

ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ มีทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟและรถยนต์ จำนวน 2,697 แห่ง แบ่งเป็น ทางต่างระดับที่ได้รับอนุญาต 546 แห่ง (Overpass, Underpass, Box underpass, U-Turn, U-Turn,Box Underpass) ทางเสมอระดับที่ได้รับอนุญาต 1,458 แห่ง (เครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ, มีพนักงานควบคุม, ป้ายจราจร/สัญญาณต่างๆ) และทางลักผ่าน 693 แห่ง (ติดตั้งเครื่องกั้นถนนฯ , ติดตั้งป้ายจราจรสัญญาณต่าง ๆ , ทางลอด, ทางที่ไม่ได้รับการติดตั้งป้ายจราจร/สัญญาณใดๆ) การรถไฟฯ ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระหว่างรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้นผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้


ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม