วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 เวลา 20:59 น.
วันที่ 30 ก.ค. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสและรักษาการ ผอ.ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวถึงรายงานการจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2566 ซึ่ง 1 ใน 7 ทิศทางสุขภาพคนไทยที่ต้องเตรียมตัวรับมือ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางสุขภาพไปทั่วโลก
สสส. ได้สานพลัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายป่าชุมชน จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ป่าชุมชน ทางรอดสุดท้าย รับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สะท้อนภาพการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านมิติการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอย่างยั่งยืน
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญาในหลายประเทศ ช่วงหน้าร้อนในไทยอากาศก็ร้อนมากขึ้น เกิดภัยแล้งในภาคการเกษตรส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร หน้าฝนก็น้ำท่วมเพิ่มขึ้น หรือหน้าหนาวก็เริ่มหายากขึ้น ทั้งหมดมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ถึงเวลาที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน
สสส. จึงได้สานพลังพัฒนาโครงการป่าชุมชนและการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน เพิ่มรายได้ในครัวเรือน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเตรียมรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นำร่องใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งในวันนี้เรามีป่าพี่เลี้ยงต้นแบบ ที่มีศักยภาพเยอะมาก การที่ สสส. และภาคีให้การสนับสนุนทำให้การมีป่าชุมชนเป็นเรื่องง่ายมาก และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยมากขึ้นด้วย