วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เวลา 14:41 น.
28 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก เนื่องจากโครงการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำให้ผู้ซื้อคอนโดฯ แอชตัน อโศก กว่า 700 ราย ได้รับผลกระทบ
ล่าสุด นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เกิดจากรัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ผู้ประกอบการสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย เมื่อเปิดใช้อาคารแล้ว และศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ผู้เสียหายจากการที่อาคารต้องถูกรื้อถอนนั้น คือผู้บริโภค เพราะฉะนั้นคนที่ต้องออกมารับผิดชอบ คือ ผู้ประกอบการ ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้บริโภคในทุกกรณีก่อน ส่วนการที่ผู้ประกอบการจะไปเรียกร้องกับหน่วยงานที่อนุญาตก่อสร้างนั้น เป็นคนละส่วนกัน
ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีนี้ ถือว่าผู้ ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคซื้อห้องแล้วอยู่อาศัยไม่ได้ตลอดไปตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน มีสิทธิยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินคดีกับบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ
รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ ต้องการเตือนคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่พิเศษควรจะตรวจสอบข้อมูลให้ดี เช่น การตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่ดำเนินการขายและก่อสร้าง และ การตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตของผู้ประกอบการ เป็นต้น เพราะอาจพบปัญหา เช่น อาจจะไม่ได้ห้อง เพราะคอนโดไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง หรือซื้อแล้วอาจจะถูกรื้อถอน เพราะเป็นการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่พิเศษ ในกรุงเทพฯ อาจจะมีการสร้างแบบผิดกฎหมาย และ ถูกร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้ถูกระงับการสร้างชั่วคราวในระหว่างตรวจสอบ ทำให้มีการสร้างต่อไปเรื่อยๆ จนเปิดใช้อาคาร สุดท้ายหากศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สั่งรื้อถอน คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภค
ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ในการเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตามรายละเอียด ดังนี้
1. แจ้งชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้
2. เอกสารซื้อขายคอนโด
3. เอกสารใบเสร็จรับเงิน
4. เอกสารการเป็นเจ้าของห้องชุด (ในกรณีที่โอนกรรมสิทธิ์แล้ว) ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค mail : complaint@consumerthai.org
สำหรับผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิในเรื่องต่างๆ สามารถปรึกษาและร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ติดต่อร้องทุกข์ (ศูนย์พิทักษ์สิทธิ) โทร 02-248-3737, 089-788-9152 วันทำการจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 09,00 – 17.00 น. หรือ complaint@consumerthai.org
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน
15 พฤศจิกายน 2567
เปิดผลตรวจ "แมวแม่หยัว" เผยผู้เชี่ยวชาญที่อ้างตอนวางยา ไม่ใช่สัตวแพทย์
15 พฤศจิกายน 2567
ไฟไหม้กองขยะ ย่านซอยโชคชัย 4 แล้วลุกลามรถยนต์ที่จอดใต้อาคารเสียหาย 3 คัน