หน้าแรก > สังคม

รองผู้ว่าฯ กทม. ให้การต้อนรับรองนายกเทศมนตรีกรุงปารีสและคณะ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เวลา 00:41


รองผู้ว่าฯ กทม. ให้การต้อนรับรองนายกเทศมนตรีกรุงปารีสและคณะ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม

(19 ก.ค. 66) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง: รศ.ทวิดา กมลเวชช และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับและมอบหนังสือ เรื่อง “Vanishing Bangkok: the Changing Face of the City” เพื่อเป็นของที่ระลึกแก่นายฌ็อง-ลุก รอเมโร-มีแชล รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส (กำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชน การบูรณาการ และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ) พร้อมคณะผู้แทนจากกรุงปารีสและจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายและประสบการณ์ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะต่อกลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) ตลอดจนเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ในการเดินทางเยือนกรุงปารีสของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) โดยมี นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและนำคณะผู้แทนฯ เยี่ยมชมคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง

โอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา และรองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจากกรุงปารีสและจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จากนั้นได้กล่าวถึงหัวใจการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนา 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข โดยเล่าถึงนโยบายของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิสวัสดิการสังคม ตลอดจนระบบสาธารณสุข อาทิ การปลดล็อกเครื่องแต่งกายและทรงผมนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดเทศกาล Pride Month เพื่อส่งเสริมในเรื่องความหลากหลายทางเพศและมุ่งสู่ Bangkok World Pride การขับเคลื่อนนโยบายคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) เป็นต้น ทั้งยังกล่าวด้วยว่าการมาเยือนของคณะผู้แทนฯ เป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครต่อไป

สำหรับนโยบายเพื่อยุติปัญหาเอดส์ กรุงเทพมหานครได้มีการลงนามปฏิญญาปารีสเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Track Cities ในวันเอดส์โลก เมื่อปี 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อบรรลุเป้าหมาย 90-90-90 ภายในปี 2563 (90% ของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีทราบสถานะตนเอง 90% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส และ 90% ของผู้ได้รับยาต้านไวรัสกดไวรัสได้สำเร็จ) และยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2573 ซึ่งเมื่อปี 2564 กรุงเทพมหานครได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “The Circle of Excellence Award” ในการประชุม Fast-Track Cities 2021 และเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) กรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมในปฏิญญาเซบีญ่า Fast-Track Cities เพื่อบรรลุเป้าหมาย 95-95-95 ภายในปี 2568 และยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายในปี 2573

ด้านการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการดังนี้ 1. ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงสารหล่อลื่น 2. ร่วมรับรองมาตรฐานองค์กรภาคประชาสังคม ส่งเสริมการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยชุมชน 3. ขยายบริการ PrEP/PEP ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างครอบคลุม โดย PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค และ PEP หรือ Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี 4. นำร่องการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self-Test) 5. จัดบริการ BKK Pride Clinic ให้คำปรึกษาส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและดูแลรักษากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

ในส่วนของคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ปัจจุบันมี 24 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร ศูนย์บริการสาธารณสุข 36 บุคคโล ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ และศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา ซึ่งจะให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ ปรึกษาสุขภาพจิต ปรึกษาสุขภาพทั่วไป ปรึกษาเรื่องฮอร์โมน ตรวจรักษาโรคเอชไอวี(HIV)/วัณโรค(TB)/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STIs) ปรึกษาด้านศัลยกรรม เป็นต้น โดยสถิติผู้รับบริการ BKK Pride Clinic ในรอบ 1 ปี (30 มิ.ย. 65 - 30 มิ.ย. 66) อายุ 15-27 ปี จำนวน 1,544 ราย อายุ 25-49 ปี จำนวน 4,112 ราย และอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 1,258 ราย ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 06 3498 9508 หรือไลน์ @prepbangkok 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม