หน้าแรก > สังคม

"อ.เสรี" เตือน “สัญญาณสภาพอากาศ” รุนแรงทั่วโลก พร้อมกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” คาดการณ์ ต.ค.-พ.ย.ฝนน้อย ห่วงเกษตรกรผลิตน้อย

วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 08:40 น.


รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต โพสต์ข้อความบน Facebook ระบุว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในหลายพื้นที่ เช่นที่ขอนแก่น ชัยนาท จันทบุรี ระยอง ไปรับฟังความรู้สึก และความต้องการเขา กล่าวโดยรวมเขาไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย หากสถานการณ์ใน 6-9 เดือนข้างหน้าเป็นไปตามที่องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกออกมาให้ข้อมูล โดยมี 4 ตัวแปรเร่งสถานการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นทำลายสถิติเดิม อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ ปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงสุด และปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มาตรการเร่งด่วนที่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ เช่น การขุดลอก การขุดบ่อ สระ การสร้างฝายขนาดเล็กกักเก็บน้ำ ไม่สามารถทำได้ ต้องขอความร่วมมือภาคเอกชนใช้งบ CSR มาทำ แต่ละท้องถิ่นต้องดิ้นรนหาเงินกันเองเท่าที่ทำได้ ในขณะที่มาตรการด้านการปรับตัวของเกษตรกร กลุ่มใดที่เข้มแข็งก็เตรียมรับ แต่กว่า 90% เป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถทำได้ ต้องได้รับการสนับสนุนเร่งด่วน จนถึงระยะยาว เช่น การปรับลดพื้นที่เพาะปลูก หันมาใช้นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต ปลูกพืชที่เหมาะสมกับต้นทุนน้ำ และการส่งเสริมการตลาดในระยะสั้น นอกจากนี้สำหรับชุมชนเมือง ความเสี่ยงที่จะเผชิญอากาศร้อนรุนแรง การอุปโภค และบริโภคน้ำกร่อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนการคาดาการณ์ปริมาณฝนใช่วงนี้ ยังคงมีฝนตกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จากอิทธิพลของร่องฝน และพายุจร ซึ่งจะเป็น 2 เดือนที่จะได้น้ำต้นทุนในปีนี้โดยช่วงปลายฝนเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน คาดว่าปริมาณฝนจะลดลง การกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กจึงมีความสำคัญมากกว่าการเฝ้ารอให้ฝนตกเหนืออ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ปัจจุบัน ตัวอย่างผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย เช่น ข้าว มีผลผลิตลดลง 70% ในฤดูนาปรังจากผลผลิตรวม 10 ล้านตันข้าวเปลือก เหลือเพียงประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนทุเรียน ผลผลิตลดลง 20% จากผลผลิตรวมประมาณ 670,000 ตัน เหลือประมาณ 550,000 ตัน ในช่วงปี 2558-2559 ในขณะที่พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ต่อปีจากแรงจูงใจด้านราคา ส่วนพืชอื่นๆก็ลดลงเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องรีบมากำหนดนโยบายทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว เพราะผลกระทบจากสภาพอากาศที่ “แพร่หลาย รวดเร็ว และรุนแรง” ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง จำเป็นต้องมีงบประมาณมาเตรียมพร้อมรับมือ 
ที่มา: Facebook รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม